บทคัดย่องานวิจัย

การประเมินปริมาณของแข็งทั้งหมดที่ละลายน้ำได้ของผลชมพู่พันธุ์ทับทิมจันท์ (Syzygium samarangense Merr. & L.M.Perry) แบบไม่ทำลายด้วยเทคนิคสเปคโตรสโกปีอินฟราเรดย่านใกล้

พีรพงษ์ แสงวนางค์กูล บุญญรัตน์ กมขุนทด ยุพิน อ่อนศิริ ศุทธหทัย โภชนากรณ์ และรณฤทธิ์ ฤทธิรณ

วารสารวิทยาศาสตร์เกษตร 45 (3/1 พิเศษ): 333-336. 2557.

2557

บทคัดย่อ

การประเมินปริมาณของแข็งทั้งหมดที่ละลายน้ำได้ของผลชมพู่พันธุ์ทับทิมจันท์ (Syzygium samarangense Merr. & L.M.Perry) แบบไม่ทำลายด้วยเทคนิคสเปคโตรสโกปีอินฟราเรดย่านใกล้

ปริมาณของแข็งทั้งหมดที่ละลายน้ำได้ (total soluble solids, TSS) ถูกกำหนดเป็นมาตรฐานและดัชนีคุณภาพที่สำคัญของชมพู่ทับทิมจันท์ อย่างไรก็ตามความไม่สม่ำเสมอด้านรสชาติของผลชมพู่ในตลาดยังคงเป็นปัญหา การทดลองนี้จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาวิธีการวิเคราะห์ปริมาณ TSS ของชมพู่ทับทิมจันท์แบบไม่ทำลายตัวอย่าง การวิเคราะห์ปริมาณ TSS ถูกพัฒนาขึ้นจากความสัมพันธ์ระหว่างค่า TSS กับค่าการดูดกลืนพลังงานอินฟราเรดย่านใกล้ (near infrared, NIR) ด้วยเครื่องสเปคโตรมิเตอร์แบบพกพาในระบบการวัดแบบสะท้อนกลับในช่วงความยาวคลื่น 700-1100 นาโนเมตร จากนั้นสร้างสมการทำนายด้วยวิธีการวิเคราะห์การถดถอยเชิงเส้นตรงแบบพหุ พบว่า สมการทำนายของเครื่องสเปคโตรมิเตอร์แบบพกพามีค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์แบบพหุ (multiple correlation coefficient, R) เท่ากับ 0.9219 ความผิดพลาดมาตรฐานสำหรับกลุ่มสร้างสมการ (standard error of calibration, SEC) เท่ากับ 0.6977% ความผิดพลาดมาตรฐานสำหรับกลุ่มทำนาย (standard error of prediction,SEP) เท่ากับ 0.6226% และความลำเอียง (bias) เท่ากับ 0.0277% สมการนี้สามารถนำมาใช้ทำนายปริมาณ TSS ของชมพู่ทับทิมจันท์สำหรับใช้เป็นดัชนีคุณภาพได้