บทคัดย่องานวิจัย

การศึกษาผลของความเร็วลมในห้องรมต่อการตกค้างของซัลเฟอร์ไดออกไซด์ในลำไยสดในเขตภาคเหนือ

สมเพชร เจริญสุข วิทยา อภัย เกรียงศักดิ์ นักผูก สนอง อมฤกษ์ และนิพัฒน์ สุขวิบูลย์

วารสารวิทยาศาสตร์เกษตร 45 (3/1 พิเศษ): 381-384. 2557.

2557

บทคัดย่อ

การศึกษาผลของความเร็วลมในห้องรมต่อการตกค้างของซัลเฟอร์ไดออกไซด์ในลำไยสดในเขตภาคเหนือ

ศึกษาการทดสอบการรมควันลำไยด้วยซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (SO2) ร่วมกับผู้ประกอบการลำไยในระดับการค้าในเขตภาคเหนือด้วยวิธีการเผาผงกำมะถันน้ำหนัก 2.6 กก. ในห้องรมขนาด 34.57 ลบ.ม. (2.94 x 4.90 x 2.40 ม.; กว้าง x ยาว x สูง) มีความจุตะกร้าลำไยรวม 256 ตะกร้า (2,944 กก.) จัดเรียงตะกร้าเรียงบนพาเลทไม้ รวม 8 พาเลทๆ ละ 8 ชั้นจัดระยะห่างระหว่างพาเลทให้เท่ากัน วัตถุประสงค์ของการทดลอง คือ ศึกษาผลของความเร็วลมที่ไหลผ่านตะกร้าและพาเลทในห้องรมต่อการตกค้างของSO2 ในเนื้อผลลำไย โดยเปรียบเทียบห้องรม 3 แบบที่มีการติดตั้งพัดลมอุตสาหกรรมขนาดเดียวกันครึ่งแรง Ø เท่ากับ 45 นิ้ว ในห้องรมแตกต่างกัน ได้แก่  ได้แก่ A) แบบใช้พัดลมอุตสาหกรรม จำนวน 1 ตัว ติดตั้งที่หน้าประตูห้องรมควันปรับมุมเอียงลงเล็กนัอย  B) แบบใช้พัดลมอุตสาหกรรม จำนวน 1 ตัว ติดตั้งที่หลังห้องรมควันปรับมุมเอียงลงเล็กนัอย และ C) แบบใช้พัดลมอุตสาหกรรมจำนวน  2 ตัว ติดตั้งที่ตำแหน่งด้านหน้าปรับมุมเอียงลงและหลังห้องรมควันโดยปรับมุมเอียงขึ้นให้ทิศทางลมกระจายทั่วถึง เมื่อเสร็จสิ้นกระบวนการรมควัน ทำการสุ่มผลลำไยในตะกร้าทุกชั้น และทุกพาเลท นำไปวิเคราะห์หาค่าตกค้าง SO2 ทันทีด้วยวิธี AOAC (2005)  ผลการทดลองพบว่าค่าการตกค้าง SO2ในเนื้อโดยเฉลี่ยแบบที่ 1, 2 และ3 เท่ากับ 20.78, 33.32 และ 63.99 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ตามลำดับ โดยแบบที่ 3 พบค่าการตกค้างของ SO2 ในส่วนเนื้อเฉลี่ยเกินค่ามาตรฐานมากกว่า 50 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม เนื่องจากมีความเร็วลมที่สูงที่สุดทำให้ก๊าซ SO2 ซึมเข้าไปในผลลำไยได้มากขึ้น