บทคัดย่องานวิจัย

การสร้างและทดสอบเครื่องปอกเปลือกเผือกต้นแบบ

ดลหทัย ชูเมฆา อภิรมย์ ชูเมฆา จักรพันธ์ แก้วไทรสุ่น และ วรียส แฉ่งประเสริฐ

วารสารวิทยาศาสตร์เกษตร 45 (3/1 พิเศษ): 385-388. 2557.

2557

บทคัดย่อ

การสร้างและทดสอบเครื่องปอกเปลือกเผือกต้นแบบ

เผือก (Colocacia esculenta L.) เป็นหนึ่งในพืชเศรษฐกิจของประเทศไทย สามารถนำไปแปรรูปเป็นสินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ที่มีชื่อเสียง เช่น เผือกแท่ง เผือกฉาบ เป็นต้น ซึ่งปัญหาของการปอกเปลือกเผือกดิบ คือ จะส่งผลให้เกิดอาการระคายเคืองผิวหนังเนื่องจากกรดออกซาลิก งานวิจัยนี้มุ่งเน้นการสร้างและทดสอบเครื่องปอกเปลือกเผือกต้นแบบ โดยทำการหาค่าลักษณะทางกายภาพของเผือก เพื่อนำข้อมูลมาสร้างเครื่อง เครื่องมีส่วนประกอบหลัก 5ส่วน ได้แก่ 1) โครงเครื่องขนาดกว้าง×ยาว×สูง,530มม.×670มม.×670มม. 2) ชุดหัวจับเป็นซูเปอร์รีนยึดติดกับเพลาและลวดสแตนเลสปลายแหลม 2ชิ้น 3) ชุดปอกเปลือกประกอบด้วยใบมีดถ่วงด้วยตุ้มน้ำหนักและเพลาบอลสกรูขับเคลื่อนด้วยมือหมุน 4) มอเตอร์ไฟฟ้าขนาด ¼แรงม้า, 220โวลต์ 5) ถาดรองรับเปลือก  ทำการทดสอบกับเผือกพันธุ์หอม เกรดปานกลาง ที่ค่าความเร็วรอบการปอก 3ระดับ คือ 50, 70และ 90 รอบ/นาที  ผลการทดสอบ พบว่า ค่าประสิทธิภาพสูงสุดเท่ากับ 86.07±6.33% ความสามารถในการปอกสูงสุด 32.92±6.53กก./ชม. ซึ่งมากกว่าแรงงานคนประมาณ 3เท่า และค่าเปอร์เซ็นต์เปลือกติดค้างน้อยที่สุด  13.93±6.33%  ณ ระดับความเร็วรอบการปอกที่ 90รอบ/นาที