บทคัดย่องานวิจัย

แบบจำลองทางคณิตศาสตร์การอบแห้งของชาใบเตยหอม

สุรเชษฐ เขื่อนควบ และ ฤทธิชัย อัศวราชันย์

วารสารวิทยาศาสตร์เกษตร 45 (3/1 พิเศษ): 409-412. 2557.

2557

บทคัดย่อ

แบบจำลองทางคณิตศาสตร์การอบแห้งของชาใบเตยหอม

งานวิจัยนี้มีจุดประสงค์เพื่อศึกษาผลกระทบของอุณหภูมิและหาแบบจำลองทางคณิตศาสตร์ที่เหมาะสมของการอบแห้งชาใบเตยหอมในระหว่างการอบแห้งด้วยลมร้อน เวลาที่ใช้ในการอบแห้งใบเตยหอมจากความชื้นเริ่มต้นจนเหลือความชื้น 0.12±0.03 กรัมน้ำ/กรัมของแข็ง ด้วยลมร้อนที่อุณหภูมิ 50, 60, 70 และ 80องศาเซลเซียส ใช้เวลาในการอบแห้งเท่ากับ 7.04, 5.83, 4.08 และ3.00 ชั่วโมงตามลำดับ แบบจำลองเอมพิริคัลที่เป็นที่รู้จักในการทำนายการเปลี่ยนแปลงอัตราส่วนความชื้นในระหว่างการอบแห้งจำนวน 3 สมการ ได้แก่ Newton, Page และ Modified Pageถูกนำมาใช้เพื่อหาแบบจำลองทางคณิตศาสตร์ที่เหมาะสมด้วยวิธีการปรับเส้นโค้ง จากผลการศึกษาพบว่าแบบจำลองของ Pageเป็นแบบจำลองที่เหมาะสมที่สุด เนื่องจากมีค่าสัมประสิทธิ์การตัดสินใจ (R2) สูงสุดในขณะที่ค่าไคกำลังสอง (Chi-Square, c2) และค่ารากที่สองของความคลาดเคลื่อนกำลังสองเฉลี่ย (Root Mean Square Error, RMSE) มีค่าต่ำสุด