บทคัดย่องานวิจัย

ผลของระยะเวลาในการเก็บรักษาต่อปริมาณความชื้นของยางก้อนถ้วย

สุนิสา สุชาติ สุรชัย มีชุม และจารุวรรณ นิลบรรจง

วารสารวิทยาศาสตร์เกษตร 45 (3/1 พิเศษ): 457-460. 2557.

2557

บทคัดย่อ

ผลของระยะเวลาในการเก็บรักษาต่อปริมาณความชื้นของยางก้อนถ้วย

ยางก้อนถ้วยเป็นวัตถุดิบสำคัญในการผลิตยางแท่ง STR10 และ STR20ในการกำหนดราคาซื้อขายยางก้อนถ้วยโดยทั่วไปจะดูที่ปริมาณความชื้นและเปอร์เซ็นต์เนื้อยางแห้ง ดังนั้นงานวิจัยนี้จึงศึกษาระยะเวลาที่เหมาะสมในการเก็บยางก้อนถ้วย โดยนำยางก้อนถ้วยเก็บไว้ที่อุณหภูมิห้อง (30°C) เป็นเวลา 1, 3, 5, 7, 9, 11, 13 และ 15วัน หลังจากนั้นหาปริมาณความชื้นด้วยการอบไล่ความชื้นตามมาตรฐาน AOAC 2000พบว่ายางก้อนถ้วยมีปริมาณความชื้นเริ่มต้นเท่ากับ 55.0±2.5% และลดลงอย่างต่อเนื่องและเหลือปริมาณความชื้นในยางก้อนถ้วยเพียง 17.7±1.3%(วันที่ 9) และ 14.4±0.5% (วันที่ 15) เปอร์เซ็นต์เนื้อยางแห้งของยางก้อนถ้วยเพิ่มขึ้นเมื่อความชื้นลดลง ซึ่งเปอร์เซ็นต์เนื้อยางแห้งในน้ำยางมีผลต่อปริมาณความชื้นในยางก้อนถ้วย จึงมีการศึกษาโดยแปรเปอร์เซ็นต์เนื้อยางแห้งโดยเจือจางน้ำยางที่มีเปอร์เซ็นต์เนื้อยางแห้ง 40%ต่อน้ำในอัตราส่วน 30:70, 50:50, 70:30, 90:10 และ 100:0 ตามลำดับ พบว่าน้ำยางที่ไม่มีการเจือจาง เมื่อนำมาทำเป็นยางก้อนถ้วยแล้วจะมีปริมาณความชื้นน้อยที่สุด จากการทดลองนี้ทำให้ชาวสวนและพ่อค้าคนกลางสามารถทำนายปริมาณความชื้นได้เมื่อทราบค่าเปอร์เซ็นต์เนื้อยางแห้งในน้ำยางและระยะเวลาในการเก็บยางก้อนถ้วยที่เหมาะสม จึงไม่จำเป็นต้องบรรทุกยางที่มีปริมาณความชื้นสูงไปส่งโรงงาน ทำให้ประหยัดค่าขนส่งได้