บทคัดย่องานวิจัย

ความละเอียดในการประเมินพื้นที่เกิดโรคโดยใช้ภาพ 3D และ ภาพถ่ายพืชในรูป 2D

สัณฐิติ บินคาเดอร์ รัติยา พงศ์พิสุทธา และ ชัยณรงค์ รัตนกรีฑากุล

วารสารวิทยาศาสตร์เกษตร 46 (3/1 พิเศษ): 469-472. 2558.

2558

บทคัดย่อ

การประเมินความเสียหายของผลผลิตการเกษตรที่เกิดจากโรคพืช วิธีการที่นำมาใช้มีความสำคัญและต้องมีประสิทธิภาพ เนืองจากผลผลิตทางการเกษตรนั้นมีทั้งส่วนโค้งและบางกรณีเป็นพื้นที่ในแนวราบ การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเปรียบเทียบความละเอียดของวิธีการหาพื้นที่การเกิดโรคของพืช ระหว่างผลผลิตที่มีส่วนโค้ง ลักษณะเป็น 3 มิติ (3D) และภาพของผลผลิตพืชในลักษณะ 2 มิติ (2D) การศึกษาครั้งนี้ใช้ผลมะม่วงที่ปรากฏโรคแอนแทรคโนสซึ่งเกิดจากเชื้อรา Colletotrichum gloeosporioides และผลพริกที่ปรากฏโรคแอนแทรคโนสซึ่งเกิดจากเชื้อรา C. capsici ประเมินพื้นที่การเกิดโรค 3D และ 2D ส่วนใบยูคาลิปตัสที่ปรากฏโรคใบปื้นเหลืองซึ่งเกิดจากเชื้อรา Phaeophleospora spp. นำมาใช้เป็นโมเดลในการศึกษาพื้นที่การเกิดโรคลักษณะ 2D เท่านั้น  สำหรับการประเมินลักษณะ 3D นั้น ใช้แผ่นใสที่มีช่องตารางขนาด 1 ตารางเซนติเมตร ในขณะที่การประเมินลักษณะ 2D ใช้โปรแกรม Scion image และ โปรแกรม Photoshop CS3 ผลการทดลองพบว่าการวัดพื้นที่การเกิดโรคโดยใช้ลักษณะ 3D และ 2D ไม่มีค่าแตกต่างกันทางสถิติ แสดงให้เห็นว่าการใช้แผ่นตารางหรือโปรแกรมในการวัดพื้นที่มีประสิทธิภาพ  มีความน่าเชื่อถือ และ สามารถนำไปใช้ประโยชน์ในงานด้านโรคพืชได้