บทคัดย่องานวิจัย

อิทธิพลของอัตราป้อน และความเร็วรอบใบมีดสับที่มีผลต่อสมรรถนะของชุดสับใบอ้อย

นิรัติศักดิ์ คงทน สมโภชน์ สุดาจันทร์ และสมนึก ชูศิลป์

วารสารวิทยาศาสตร์เกษตร 46 (3/1 พิเศษ): 509-512. 2558.

2558

บทคัดย่อ

การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลของอัตราป้อนและความเร็วรอบใบมีดสับ ที่มีผลต่อสมรรถนะในการสับใบอ้อย เพื่อนำไปทำเป็นเชื้อเพลิง ชุดทดสอบสับใบอ้อยมีส่วนประกอบหลักคือ ช่องป้อนวัสดุ ชุดหัวสับ ชุดลำเลียง ชุดถ่ายทอดกำลังและชุดโครงสับ ปัจจัยที่ศึกษาได้แก่ อัตราป้อน 3 ระดับ คือ 110 190 และ 260 กิโลกรัม/ชั่วโมง  และความเร็วรอบใบมีดสับ 4 ระดับ คือ 500 600 700 และ 800  รอบ/นาที มีความเร็วเชิงเส้น 5.23 6.28 7.33 และ 8.37 เมตรต่อวินาที ใช้ใบอ้อยพันธุ์ ขอนแก่น 3  ที่ความชื้น 7.48  เปอร์เซ็นต์ (มาตรฐานเปียก) ในการทดสอบ โดยมีค่าชี้ผลคือ ความสามารถในการสับ เปอร์เซ็นต์การสับและขนาดชิ้นใบอ้อยหลังสับ ผลการทดสอบพบว่า การสับใบอ้อยโดยใช้อัตราป้อน 260 กิโลกรัม/ชั่วโมง โดยใช้ความเร็วรอบใบมีดสับในช่วง 500 ถึง 800 รอบ/นาที มีความเหมาะสมในการสับใบอ้อย โดยมีความสามารถในการสับในช่วง 217.79 -232.29 กิโลกรัม/ชั่วโมง เปอร์เซ็นต์น้ำหนักที่สับได้ขนาดที่เหมาะสมอยู่ในช่วง 84.59 - 88.87 % และความยาวใบอ้อยที่สับได้ อยู่ในช่วง 2.07 – 3.43 เซนติเมตร