บทคัดย่องานวิจัย

การใช้ไอระเหยเอทานอลในการควบคุมโรคขั้วผลเน่า และโรคแอนแทรคโนสในมะม่วงน้ำดอกไม้เบอร์สี่ในระยะผลสุก

เจนจิรา พกาวัลย์ ปฐมพงศ์ เพ็ญไชยา พนิดา บุญฤทธิ์ธงไชย วีรเวทย์ อุทโธ สมโภชน์ น้อยจินดา และ เฉลิมชัย วงษ์อารี

วารสารวิทยาศาสตร์เกษตร 49(4) (พิเศษ): 11-14. 2561.

2561

บทคัดย่อ

มะม่วงน้ำดอกไม้เป็นผลไม้ส่งออกที่สำคัญของประเทศไทย อย่างไรก็ตาม มะม่วงน้ำดอกไม้เบอร์สี่มีปัญหาหลังการเก็บเกี่ยวที่สำคัญคือ การเน่าเสียเนื่องจากเชื้อราที่สำคัญ 2 ชนิดคือ Lasiodiplodia theobromae ทำให้เกิดโรคขั้วผลเน่า และ Colletotrichum gloeosporioides ทำให้เกิดโรคแอนแทรคโนสเมื่อผลสุก ในการศึกษานี้ทำการทดลองถึงการใช้ไอระเหยจากสารละลายเอทานอลในการควบคุมการเจริญของเชื้อราทั้ง 2 ชนิด ทดลองควบคุมเชื้อบนอาหารเลี้ยงเชื้อ โดยใช้สำลีจุ่มสารละลายเอทานอลความเข้มข้นร้อยละ 5 ถึง 40 วางข้างจานอาหารเลี้ยงเชื้อ PDA ที่วางในกล่องปริมาตร 890 ml ผลการทดลองพบว่าความเข้มข้นของสารละลายเอทานอลที่สามารถควบคุม L. theobromae ได้ คือร้อยละ 20 วัดความเข้มข้นของเอทานอลสมดุลในบรรยากาศภายในบรรจุภัณฑ์ได้ 6,484.3 ppm ส่วนความเข้มข้นของสารละลายเอทานอลที่สามารถควบคุม C. gloeosporioides ได้ คือร้อยละ 10 วัดความเข้มข้นของเอทานอลในบรรยากาศภายในบรรจุภัณฑ์ได้ 3,238.9 ppm ซึ่งสอดคล้องกับผลของการทดลองเก็บผลมะม่วงสุกในบรรจุภัณฑ์ที่มีสำลีจุ่มสารละลายเอทานอลที่ความเข้มข้นร้อยละ 10สามารถควบคุมการแสดงออกของโรคแอนแทรกโนสได้ แต่ไม่สามารถยับยั้งการแสดงออกของโรคขั้วผลเน่าได้ ดังนั้นความเข้มข้นที่เหมาะสมในการควบคุมโรคทั้ง 2 ชนิดในผลมะม่วงคือไอระเหยจากสารละลายเอทานอลร้อยละ 20