บทคัดย่องานวิจัย

ผลของกรดออกซาลิกและกรดซาลิซิลิกความเข้มข้นต่ำต่อการเกิดสีน้ำตาลของเปลือกผลลำไยพันธุ์ดอระหว่างเก็บรักษา

อธิวัฒน์ ชุ่มแย้ม อติณัฐ จรดล จำนงค์ อุทัยบุตร และ กอบเกียรติ แสงนิล

วารสารวิทยาศาสตร์เกษตร 49(4) (พิเศษ): 75-78.

2561

บทคัดย่อ

กรดออกซาลิก (OA) และกรดซาลิซิลิก (SA) มีบทบาทสำคัญในการเป็นโมเลกุลส่งสัญญาณเพื่อบรรเทาการเสื่อมตามอายุและรักษาคุณภาพของผลไม้หลังเก็บเกี่ยวโดยกระตุ้นกลไกป้องกันการต้านออกซิเดชัน งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลของ OA และ SA ที่ระดับความเข้มข้นต่ำเพื่อลดการเกิดสีน้ำตาลของเปลือกผลลำไยพันธุ์ดอระหว่างเก็บรักษาที่อุณหภูมิ 25±1 oซ โดยนำผลลำไยสดจุ่มในสารละลาย OA หรือ SA ที่ความเข้มข้น 1 และ 10 มิลลิโมลาร์ เป็นเวลา 10 นาที และผลลำไยที่จุ่มในน้ำกลั่นเป็นชุดควบคุม จากนั้นบรรจุผลลงในกล่องกระดาษลูกฟูกและนำไปเก็บรักษาที่ 25±1 oซ ความชื้นสัมพัทธ์ 82±5% เป็นเวลา 7 วัน สุ่มตัวอย่างผลทุกๆ วันเพื่อวิเคราะห์เปอร์เซ็นต์การเกิดสีน้ำตาล ค่าสีเปลือกผล (ค่า L* และ b*) การยอมรับคุณภาพผลโดยรวม กิจกรรมของเอนไซม์โพลีฟีนอลออกซิเดส (PPO) และปริมาณไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ (H2O2) พบว่าผลลำไยที่จุ่มใน OA ความเข้มข้น 1 และ 10 มิลลิโมลาร์ มีเปอร์เซ็นต์การเกิดสีน้ำตาลต่ำกว่าและค่าสีเปลือกผลสูงกว่าอย่างมีนัยสำคัญในระหว่างเก็บรักษาเป็นเวลา 7 วัน ขณะที่ SA มีประสิทธิภาพต่ำกว่าในการลดการเกิดเปลือกผลสีน้ำตาล ผลที่จุ่มใน OA มีกิจกรรมของเอนไซม์ PPO และปริมาณ H2O2 ที่ต่ำกว่าและมีคุณภาพผลโดยรวมสูงกว่าชุดควบคุม โดย OA 10 มิลลิโมลาร์ มีประสิทธิภาพสูงสุดในการลดการเกิดสีน้ำตาลและยืดอายุการวางจำหน่ายจาก 2 วันเป็น 4 วัน ผลการทดลองนี้แสดงให้เห็นว่าการจุ่มผลลำไยใน OA ความเข้มข้นต่ำ (10 มิลลิโมลาร์) สามารถลดการเกิดเปลือกผลสีน้ำตาลและรักษาคุณภาพของผลลำไยพันธุ์ดอในระหว่างเก็บรักษาที่ 25±1 oซ ได้โดยการลดกิจกรรมของเอนไซม์ PPO และการสะสม H2O2