สัณฐานวิทยาของปลีและระยะบริบูรณ์ทางสรีรวิทยาของกล้วยหอมเขียวค่อม สามเดือน และเทพนม
สมคิด ใจตรง และ สุชาวดี บัวพก
วารสารวิทยาศาสตร์เกษตร 49(4) (พิเศษ): 95-98.
2561
บทคัดย่อ
วัตถุประสงค์ของงานวิจัยเพื่อศึกษาลักษณะสัณฐานวิทยาของปลีกล้วย (รูปร่าง การม้วนของใบประดับ สีใบประดับ สีดอกเพศผู้ และสีของ stigma) ของกล้วย triploid คือ กล้วยหอมเขียวค่อม (Musa AAA group) สามเดือน (Musa AAB group) และเทพนม (Musa ABB group) ผลกล้วยที่ระยะบริบูรณ์ทางสรีรวิทยาประเมินจากความบริบูรณ์มาตรฐานของผลกล้วย (ไม่มีเหลี่ยม>90-100% บริบูรณ์) ร่วมกับการนับจำนวนวันหลังตัดปลี จากนั้นเก็บเกี่ยวและทำให้ผลกล้วยสุกที่สภาพบรรยากาศปกติ (30±2C และความชื้นสัมพัทธ์ 65±2%) นำผลกล้วยที่ระยะบริบูรณ์ทางสรีรวิทยาและระยะสุก (เปลือกเปลี่ยนเป็นสีเหลือง) มาวิเคราะห์คุณภาพทางกายภาพ-เคมี (น้ำหนักหวี ความกว้าวผล ความยาวผล สีเปลือกผล ความแน่นเนื้อและปริมาณของแข็งทั้งหมดที่ละลายน้ำได้) พบว่าปลีกล้วยหอมเขียวค่อมและเทพนมมีรูปร่างไข่กว้าง ปลายมน ปลีกล้วยสามเดือนรูปร่างเรียวยาว ปลายแหลม ทั้งสามพันธุ์มีใบประดับยกตัวและม้วนขึ้น มีนวลปกคลุม สีน้ำตาลอมแดงถึงแดงอมม่วง ดอกเพศผู้สีครีมปนเหลือง (หอมเขียวค่อม) เหลือง (สามเดือน) และสีชมพู (เทพนม) ปลายสีเหลือง กล้วยสามเดือนพัฒนาสู่ระยะบริบูรณ์ทางสรีรวิทยาเร็วที่สุด คือ 58 วัน รองลงมา คือ หอมเขียวค่อม (82 วัน) และเทพนม (124 วัน) หลังตัดปลี หลังเก็บรักษาที่อุณหภูมิห้อง (30±2 องศาเซลเซียส) กล้วยหอมเขียวค่อมและกล้วยสามเดือนใช้เวลาพัฒนาเข้าสู่ระยะสุก 3 วัน และ กล้วยเทพนม ใช้เวลา 7 วัน ปริมาณของแข็งทั้งหมดที่ละลายน้ำได้ที่ระยะสุกเพิ่มขึ้นประมาณ 7-10 เท่าและสูงสุดในกล้วยเทพนม (32%) รองลงมา คือ กล้วยหอมเขียวค่อม (27%) และกล้วยสามเดือน (20%) ตามลำดับ ในทางตรงกันข้ามความแน่นเนื้อที่ระยะสุกลดลง ประมาณ 6-10 เท่าขึ้นกับพันธุ์กล้วย