ผลของความเข้มข้นของแคลเซียมคลอไรด์ต่อคุณภาพและอายุการปักแจกันของไฮเดรนเยียตัดดอก
รัฐติยา ทาผา นฤภร เทพสุวรรณ์ นิพนธ์ กิติดี ณัฐา โพธาภรณ์ และ พิมพ์ใจ สีหะนาม
วารสารวิทยาศาสตร์เกษตร 49(4) (พิเศษ): 103-106.
2561
บทคัดย่อ
ไฮเดรนเยียตอบสนองไวต่อการดูแลและการจัดการที่ไม่ดี เกิดการสูญเสียน้ำมาก ส่งผลให้แสดงอาการเหี่ยวอย่างรวดเร็ว และกลีบเลี้ยงเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล การรักษาความสดและการใช้สารละลายยืดอายุที่เหมาะสมเป็นปัจจัยสำคัญต่อการยืดอายุการปักแจกันของไฮเดรนเยียได้นานขึ้น งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลของความเข้มข้นของสารละลายแคลเซียมคลอไรด์ต่อคุณภาพและอายุการปักแจกันของไฮเดรนเยียตัดดอก โดยแช่ก้านดอกไฮเดรนเยียในน้ำกลั่น น้ำประปา สารละลายแคลเซียมคลอไรด์ความเข้มข้น 250, 500, 750 และ 1,000 มิลลิกรัมต่อลิตร ที่อุณหภูมิห้อง (29.89±1.50 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 52.62±3.11 เปอร์เซ็นต์) เป็นเวลา 4 วัน ผลการทดลองพบว่า สารละลายแคลเซียมคลอไรด์ช่วยรักษาความสดของกลีบเลี้ยงและใบของไฮเดรนเยียได้ดีกว่าการแช่ในน้ำกลั่น ดอกไฮเดรนเยียที่แช่ในสารละลายแคลเซียมคลอไรด์ความเข้มข้น 500 มิลลิกรัมต่อลิตร มีค่า hue angle ของกลีบเลี้ยงและก้านดอกย่อย รวมทั้งปริมาณแอนโทไซยานินของก้านดอกย่อยมากกว่าดอกไฮเดรนเยียที่แช่ในน้ำกลั่น นอกจากนี้สารละลายแคลเซียมคลอไรด์และน้ำประปาชะลอการเปลี่ยนแปลงขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางของช่อดอกไฮเดรนเยียได้ดีกว่าการแช่ในน้ำกลั่น ดอกไฮเดรนเยียที่แช่ในสารละลายแคลเซียมคลอไรด์ความเข้มข้น 250 และ 500 มิลลิกรัมต่อลิตร มีอายุการปักแจกันนานกว่าการแช่ในน้ำกลั่นและน้ำประปา คือ มีอายุการปักแจกันเท่ากับ 7.60±0.20, 7.00±0.63, 4.40±0.40 และ 4.80±0.20 วัน ตามลำดับ อย่างไรก็ตามสารละลายแคลเซียมคลอไรด์ไม่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงสีของกลีบเลี้ยง อัตราการดูดน้ำ ปริมาณแอนโทไซยานินของกลีบเลี้ยง ค่าความเป็นกรด-ด่างของกลีบเลี้ยงและก้านดอกย่อยของไฮเดรนเยียตัดดอก