ผลของกรดบอริกต่อการเปลี่ยนแปลงคุณภาพทางกายภาพของดอกมะลิลาหลังการเก็บเกี่ยว
จิราพร บุญประเสริฐ พีระศักดิ์ ฉายประสาท และ มยุรี กระจายกลาง
วารสารวิทยาศาสตร์เกษตร 49(4) (พิเศษ): 111-114.
2561
บทคัดย่อ
มะลิลาเป็นดอกไม้ที่มีโครงสร้างของกลีบดอกที่บอบบาง ทำให้เกิดตำหนิได้ง่าย จึงมีอายุการวางจำหน่ายที่สั้น จำเป็นต้องมีการพัฒนาหาแนวทางเพื่อลดความเสื่อมสภาพ งานวิจัยนี้จึงมีวัตถุประสงค์ เพื่อ ศึกษาผลของกรดบอริกต่อการเปลี่ยนแปลงคุณภาพทางกายภาพของดอกมะลิลาหลังการเก็บเกี่ยว โดยเปรียบเทียบระหว่างการแช่ดอกมะลิลาในกรดบอริกที่ความเข้มข้น 4% (น้ำหนักโดยปริมาตร) เปรียบเทียบกับน้ำกลั่น (ชุดควบคุม) แล้วเก็บรักษาไว้ที่อุณหภูมิห้อง (27±2 ºC; RH 52 ± 2%) บันทึกข้อมูลคุณภาพ ได้แก่ การสูญเสียน้ำหนัก การบาน การเกิดตำหนิ ลักษณะเซลล์บุผิวของกลีบดอก ค่าการรั่วไหลของประจุ และอายุการเก็บรักษา ทุก 6 ชั่วโมง จนกระทั่งดอกมะลิลาเสื่อมสภาพ จากการทดลอง พบว่า การแช่ดอกมะลิลาด้วยสารละลายกรดบอริกที่ความเข้มข้น 4% มีประสิทธิภาพช่วยชะลอการสูญเสียน้ำหนักอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (P<0.05) เมื่อเปรียบเทียบกับชุดควบคุม เซลล์บุผิว (epidermis) ของกลีบดอกด้านบน มีรูปร่างกลมรี มีความเต่ง การจัดเรียงตัวเป็นระเบียบ แตกต่างจากชุดที่แช่กรดบอริก ที่มีเซลล์บุผิว ยุบตัวลง แต่มีการจัดเรียงตัวประสานกันเป็นแผ่นปกคลุมด้านบน ส่งผลให้ดอกมะลิลาสูญเสียน้ำช้าลง อีกทั้งยังช่วยชะลอการบาน ลดการเกิดตำหนิ ซึ่งปรากฎการเปลี่ยนแปลงสีของกลีบดอกจากสีขาวไปเป็นสีม่วงหรือสีน้ำตาลช้าลง สอดคล้องกับการลดลงของอัตราการหายใจและอัตราการผลิตเอทิลีน ทำให้มีอายุการใช้งานนาน 52.96 ชั่วโมง