บทคัดย่องานวิจัย

ปริมาณสารเดลฟินิดิน ไซยานิดิน และคุณสมบัติต้านอนุมูลอิสระในกระเจี๊ยบแดงพันธุ์ใหม่ 6 สายพันธุ์

สมนึก พรมแดง อุทัยวรรณ ด้วงเงิน และศิริพรรณ สุขขัง

วารสารวิทยาศาสตร์เกษตร 49(4) (พิเศษ): 115-118.

2561

บทคัดย่อ

งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเปรียบเทียบสารประกอบฟีนอลิกรวมและฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ในส่วนกลีบเลี้ยงและริ้วประดับของกระเจี๊ยบแดงลูกผสมเปิดพันธุ์ใหม่ที่ผ่านการคัดเลือกจากรุ่นที่ 8 จำนวน 6 สายพันธุ์ ปริมาณสารแอนโทไซยานินชนิดเดลฟินิดิน และไซยานิดินวิเคราะห์ด้วยเทคนิค HPLC ปริมาณฟีนอลิกรวมโดยวิธี Folin-ciocalteu และฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ 2, 2-Diphenyl-1-picrylhydrazyl (DPPH) พบว่า ในส่วนกลีบเลี้ยงมีปริมาณสารประกอบฟีนอลิกรวมและฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระสูงกว่าส่วนริ้วประดับ สายพันธุ์สีม่วงเข้ม HA-O และ HA-C มีปริมาณเดลฟินิดิน และไซยานิดินในปริมาณสูงที่สุด รองลงมาคือ พันธุ์สีม่วง P-J ซึ่งสูงกว่าพันธุ์การค้า (SD และ LC-KU) ส่วนพันธุ์สีแดง R-J และสีชมพู Pk-J อยู่ในกลุ่มที่มีสารเดลฟินิดิน และไซยานิดินในปริมาณต่ำ ปริมาณแอนโทไซยานินมีความสัมพันธ์ทางบวกกับปริมาณฟีนอลิกรวม และฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ สำหรับพันธุ์สีขาว (WT) ตรวจไม่พบสารแอนโทไซยานิน แต่มีปริมาณสารฟีนอลิกรวม และฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระใกล้เคียงกับพันธุ์สีชมพู