บทคัดย่องานวิจัย

ผลของการจุ่มแคลเซียมคลอไรด์ร่วมกับการใช้ความเย็นเฉียบพลันหลังการเก็บเกี่ยวต่อคุณภาพการเก็บรักษาผักคะน้าไฮโดรพอนิกส์

วุฒิรัตน์ พัฒนิบูลย์

วารสารวิทยาศาสตร์เกษตร 49(4) (พิเศษ): 227-230.

2561

บทคัดย่อ

วัตถุประสงค์ของงานวิจัยนี้เพื่อศึกษาอิทธิพลของแคลเซียมคลอไรด์ (CaCl2) และการให้ความเย็นเฉียบพลัน (cold shock treatment, CST) ต่อคุณภาพในระหว่างการเก็บรักษาของคะน้าที่ปลูกในระบบไฮโดรพอนิกส์ ในงานวิจัยนี้ออกแบบการทดลองแบบแฟคทอเรียลในแผนการทดลองแบบสุ่มสมบูรณ์ 3 ซ้ำ ประกอบด้วย 2 ปัจจัย คือ การใช้และไม่ใช้ CaCl2 ที่อุณหภูมิ 40ซ 30 วินาที ร่วมกับ การทำ CST  ด้วยน้ำเย็นที่อุณหภูมิ 0±2ซ (0 30 และ 60 นาที) โดยศึกษาการเก็บรักษาที่ 10ซ ความชื้นสัมพัทธ์ 70% ผลการทดลองพบว่า CaCl2 และ CST มีผลต่อคุณภาพคะน้าในช่วงวันที่ 2-6 ของการเก็บรักษา โดยคะน้าที่ใช้ CaCl2 มีอิทธิพลต่อการสูญเสียน้ำหนักสด สี (hue angle) และความเหนียว (cohesiveness) ของก้านใบ สูงกว่าคะน้าที่ไม่ใช้ CaCl2 แต่ไม่มีผลต่อปริมาณคลอโรฟิลล์ แคโรทีนอยด์ ความแข็ง (hardness) ของก้านใบ และคะแนนคุณภาพทางประสาทสัมผัสด้านสีและความสด แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ ส่วนปัจจัยด้านการทำ CST พบว่าการทำ CST นาน 30 และ 60 นาที ทำให้คะน้ามี hardness ของก้านใบและคะแนนคุณภาพทางประสาทสัมผัสด้านความสดสูงกว่า แต่ส่งผลให้มีปริมาณคลอโรฟิลล์ต่ำกว่าคะน้าที่ไม่ทำ CST การทดลองนี้ชี้ให้เห็นว่าการใช้ CaCl2 ที่อุณหภูมิสูงร่วมกับการทำ CST เป็นเวลาตั้งแต่ 30 นาทีเป็นต้นไป ส่งผลเสียต่อคุณภาพของคะน้ามากกว่าผลดี แต่อย่างไรก็ตามการลดอุณหภูมิหลังจากการใช้ CaCl2 ที่อุณหภูมิสูงนั้นยังคงเป็นสิ่งจำเป็น แต่ต้องใช้ระยะเวลาที่สั้นลงกว่า 30 นาที