การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีการลดอุณหภูมิสำหรับพืชผักของมูลนิธิโครงการหลวง
ปรัศนีย์ กองวงค์ วริศรา วนากมล ดนัย บุณยเกียรติ และ พิชญา พูลลาภ
วารสารวิทยาศาสตร์เกษตร 49(4) (พิเศษ): 235-238. 2561.
2561
บทคัดย่อ
งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาอัตราเร็วในการลดอุณหภูมิ ของพืชผัก 3 ชนิด ได้แก่ ปวยเล้ง บรอคโคลี และคะน้าฮ่องกง โดยการใช้เทคโนโลยีการลดอุณหภูมิของมูลนิธิโครงการหลวง ได้แก่ การลดอุณหภูมิด้วยระบบสุญญากาศ การลดอุณหภูมิด้วยน้ำแข็ง และการลดอุณหภูมิโดยการผ่านอากาศเย็นแบบบังคับ โดยศึกษาสภาวะที่เหมาะสมสำหรับการลดอุณหภูมิแบบต่างๆกับผลิตผลทั้ง 3 ชนิดให้มีอุณหภูมิสุดท้ายเท่ากับ 4±1 °C จากผลการทดลองพบว่า สภาวะที่เหมาะสมสำหรับการลดอุณหภูมิด้วยระบบสุญญากาศของปวยเล้งที่มีอุณหภูมิเริ่มต้น 23.0±1.1 °C คือ การกำหนดความดันสุดท้ายเท่ากับ 6.5 มิลลิบาร์ และระยะเวลาที่ผลิตผลอยู่ภายใต้ความดันที่กำหนดเท่ากับ 15 นาที สำหรับ บรอคโคลีที่มีอุณหภูมิเริ่มต้น 20.13±0.12 °C สภาวะที่เหมาะสมสำหรับการลดอุณหภูมิด้วยระบบสุญญากาศ คือ การกำหนดความดันสุดท้าย 6.0 มิลลิบาร์ และระยะเวลาที่ผลิตผลอยู่ภายใต้ความดันที่กำหนดเท่ากับ 30 นาที และสภาวะที่เหมาะสมสำหรับการลดอุณหภูมิด้วยระบบสุญญากาศของคะน้าฮ่องกงที่มีอุณหภูมิเริ่มต้น 19.63±0.32 °C คือ การกำหนดความดันสุดท้าย 6.5 มิลลิบาร์ และระยะเวลาที่ผลิตผลอยู่ภายใต้ความดันที่กำหนดเท่ากับ 20 นาที นอกจากนี้ จากการศึกษาการลดอุณหภูมิด้วยน้ำแข็งที่เหมาะสมกับบรอคโคลี และคะน้าฮ่องกงคือ การใช้น้ำแข็งในอัตราส่วน 1:1 (ผลิตผล:น้ำแข็ง) มีอัตราเร็วในการลดอุณหภูมิสูงที่สุด ซึ่งสูงกว่าการลดอุณหภูมิด้วยน้ำแข็งในอัตราส่วน 2:1 และ 3:1 สำหรับการลดอุณหภูมิด้วยการผ่านอากาศเย็นแบบบังคับที่มีอุณหภูมิอากาศเย็นเท่ากับ 2-4 °C และมีความเร็วลมเท่ากับ 1.5 เมตรต่อวินาที สามารถลดอุณหภูมิปวยเล้งที่มีอุณหภูมิเริ่มต้น 21.27±0.55 °C จนถึงอุณหภูมิสุดท้าย 3.68 ±0.51 °C ภายในระยะเวลา 35 นาที