ผลกระทบของความเร็วการลำเลียงและการสั่นสะเทือนต่อการคัดแยกดินออกจากหัวแก่นตะวัน
พีรณัฐ อันสุรีย์ พลเทพ เวงสูงเนิน และ วารี ศรีสอน
วารสารวิทยาศาสตร์เกษตร 49(4) (พิเศษ): 287-290.
2561
บทคัดย่อ
โครงการนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษา และออกแบบชุดคัดแยกดินและหัวแก่นตะวันหลังจากการขุด เพื่อนำมาติดตั้งไว้กับอุปกรณ์การขุดหัวแก่นตะวัน โดยต้องการลดปัญหาระยะเวลา การขาดแคลนแรงงาน ความสูญเสียของหัวแก่นตะวัน และเพิ่มประสิทธิภาพในการเก็บเกี่ยวแก่นตะวัน การทดสอบการทำงานของชุดแยกดินออกจากหัวแก่นตะวันเบื้องต้นใช้รถแทรกเตอร์เป็นต้นกำลังเพื่อหาสภาวะที่เหมาะสมในการคัดแยก ในการศึกษาให้มีการส่งกำลังแบบโซ่ลำเลียงมีความเร็วเชิงเส้นในการลำเลียง 2 ระดับคือ 0.0635 และ 0.2117 เมตรต่อวินาที และมีการสั่นสะเทือนของชุดโซ่ลำเลียงโดยใช้ลูกเบี้ยวที่ความเร็วของลูกเบี้ยว 3 ระดับคือ 400, 500 และ 600 รอบต่อนาที
ผลจากการทดสอบพบว่า ที่ความเร็วของโซ่ลำเลียง 0.0635 เมตรต่อวินาที และที่ความเร็วของของลูกเบี้ยว 500 รอบต่อนาที ชุดคัดแยกดินและหัวแก่นตะวันมีเปอร์เซ็นต์การคัดแยกดิน 81.12 เปอร์เซ็นต์ เปอร์เซ็นต์ความสูญเสีย 24.66 เปอร์เซ็นต์ และเปอร์เซ็นต์ความเสียหาย 23.52 เปอร์เซ็นต์ ตามลำดับ