บทคัดย่องานวิจัย

การใช้เอทีฟอนบ่มผลทุเรียนพันธุ์หมอนทองระหว่างการส่งออกทางเรือภายใต้มาตรฐานสารพิษตกค้าง

พีรพงษ์ แสงวนางค์กูล ยุพิน อ่อนศิริ และ เจริญ ขุนพรม

วารสารวิทยาศาสตร์เกษตร 49(4) (พิเศษ): 371-374.

2561

บทคัดย่อ

มาตรฐาน มกษ.9002-2556 และมาตรฐานอาหารระหว่างประเทศได้กำหนดให้ปริมาณสารเอทีฟอนตกค้างสูงสุดในผลทุเรียนมีได้ไม่เกิน 2 มก./กก. ดังนั้นเพื่อส่งเสริมการส่งออกและป้องกันการกีดกันทางการค้า การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อหาวิธีที่เหมาะสมในการบ่มผลทุเรียนพันธุ์หมอนทองที่มีอายุ 100, 110 และ 120 วันหลังดอกบาน สำหรับการส่งออกทางเรือที่อุณหภูมิ 15+1C เป็นเวลา 10 วัน และวางจำหน่ายที่ 25C จนกระทั่งผลสุก (1 – 4 วัน) พบว่า ผลทุเรียนแต่ละอายุตอบสนองต่อวิธีการบ่มดังนี้ ผลอายุ 100 วัน สามารถบ่มโดยการป้ายขั้วด้วยเอทีฟอนเข้มข้น 52% อย่างเดียว จำนวน 2 ครั้ง หรือ ป้ายขั้วด้วยเอทีฟอนเข้มข้น 52% จำนวน 2 ครั้ง ร่วมกับการรมแก๊สเอทิลีนเข้มข้น 0.02% เป็นเวลา 24 ชั่วโมง ก่อนเก็บรักษาในห้องเย็น หรือ ป้ายขั้วด้วยเอทีฟอนเข้มข้น 52% จำนวน 2 ครั้ง ร่วมกับการชุบผลด้วยเอทีฟอนเข้มข้น 0.1% โดยมีสารตกค้างทั้งผล 0.259, 0.277 และ 1.793 มก./กก. ตามลำดับ สำหรับผลอายุ 110 วัน สามารถบ่มวิธีการเดียวกับผลอายุ 100 วัน ทั้ง 3 วิธี แต่ความเข้มข้นของสารที่ป้ายขั้วต้องลดลงเหลือ 26% ซึ่งมีสารตกค้างทั้งผล 0.172, 0.213 และ 1.637 มก./กก. ตามลำดับ  และผลอายุ 120 วัน สามารถบ่มโดยการป้ายขั้วด้วยเอทีฟอนเข้มข้น 26% อย่างเดียว จำนวน 2 ครั้ง หรือป้ายขั้วด้วยเอทีฟอน 26% เพียงครั้งเดียวร่วมกับการรมแก๊สเอทิลีน 0.02% หรือป้ายขั้วด้วยเอทีฟอน 26% เพียงครั้งเดียวร่วมกับการชุบเอทีฟอน 0.1% อย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งพบสารตกค้างทั้งผล 0.231, <0.035 และ 1.793 มก./กก. ตามลำดับ น้อยกว่ามาตรฐานโคเด็กซ์