บทคัดย่องานวิจัย

การยืดอายุการเก็บรักษาผลลำไยสดโดยบรรจุภัณฑ์ที่ปิดผนึกด้วยฟิล์มแบบเจาะรูขนาดไมโคร

จุฑามาศ พร้อมบุญ ตรัสสา ชีพนุรัตน์ วิชชุดา เดาด์ อัจฉราพร อ้นที สุดารัตน์ ขุนเมือง และ เฉลิมชัย วงษ์อารี

วารสารวิทยาศาสตร์เกษตร 52 (2 พิเศษ): 81-84. 2564.

2564

บทคัดย่อ

ผลลำไยสดมีอายุการเก็บรักษาสั้นเนื่องจากสาเหตุหลักก็คือเปลือกเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลและการเข้าทำลายของจุลินทรีย์ การทดลองนี้ได้ใช้บรรจุภัณฑ์ที่แตกต่างกันเพื่อยืดอายุการเก็บรักษาของลำไยพันธุ์ดอ โดยตัดแต่งผลลำไยให้เป็นผลเดี่ยวแล้วแช่ในสารละลายคลอร็อกซ์ความเข้มข้น 200 ppm นาน 3 นาที นำผลลำไย 15 ผล (200 กรัม) มาบรรจุในกล่องโพลีโพรไพลีน (PP) ขนาด 12×17×3.5 ลบ.ซม. แล้วปิดฟิล์มด้านบนด้วยความร้อนด้วยฟิล์ม PP และโพลีเอทีลีน เทเรฟทาเลตประกบกับโพลีโพรไพลีน (PET/cPP) (ศูนย์เทคโนโลยีและวัสดุแห่งชาติ) เปรียบเทียบกับการบรรจุในถุงตาข่าย (ชุดควบคุม)  ลำไยทั้งหมดเก็บรักษาในห้องอุณหภูมิ 10 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ร้อยละ 90-95 ลำไยมีอัตราการหายใจเฉลี่ย 11.87 mg CO2×kg-1.h-1  ออกซิเจนในบรรุภัณฑ์ไม่เจาะรูเข้าสู่ระดับสมดุลในวันที่ 6 มีความเข้มเข้นร้อยละ 6 ในขณะที่บรรจุภัณฑ์เจาะรูเข้าสู่สมดุลในวันที่ 3 มีค่าร้อยละ 15 ส่วนค่าคาร์บอนไดออกไซด์มีค่าเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในบรรจุภัณฑ์ไม่เจาะรูและเข้าสู่สมดุลในวันที่ 7 มีค่าร้อยละ 30 ในขณะที่บรรจุภัณฑ์เจาะรูเข้าสมดุลในวันที่ 4 มีค่าร้อยละ 12 ในวันที่ 12 ผลลำไยที่บรรจุในถุงตาข่ายมีการสูญเสียน้ำหนักที่ร้อยละ 7 ลำไยที่บรรจุในบรรจุภัณฑ์ที่ปิดผนึกด้วยฟิล์มที่เจาะรูและไม่เจาะรูนั้นมีการสูญเสียน้ำหนักที่ไม่แตกต่างกันตลอดระยะเวลาการเก็บรักษาโดยมีการสูญเสียไม่ถึงร้อยละ 0.3 นอกจากนี้เปลือกของลำไยในถุงตาข่ายมีสีน้ำตาลอย่างรวดเร็ว โดยมีค่า L* ลดลงจาก 50 ในวันเริ่มต้น เหลือ 41 ในวันที่ 12 ขณะที่บรรจุภัณฑ์ที่ปิดฟิล์มแบบเจาะและไม่เจาะรูมีค่าค่อนข้างคงที่ตลอดการเก็บ เริ่มพบการเจริญของเชื้อราบนเปลือกลำไยหลังจากเก็บรักษา 6 วัน ผลลำไยที่เก็บรักษาในถุงตาข่าย  ส่วนบรรจุภัณฑ์ที่ปิดฟิล์มไม่เจาะรูพบวันที่ 9  ส่วนบรรจุภัณฑ์ที่ปิดฟิล์มแบบเจาะรูเริ่มพบในวันที่ 12