การใช้พรอพอลิสในการควบโรคหลังเก็บเกี่ยวของส้มพันธุ์สายน้ำผึ้ง
วิลาวัลย์ คำปวน บาจรีย์ ฉัตรทอง และ จำนงค์ อุทัยบุตร
วารสารวิทยาศาสตร์เกษตร 50 (3 พิเศษ): 36-39. 2562.
2562
บทคัดย่อ
การนำเอาพรอพอลิสจากรังของชันโรงมาทดสอบใช้ในการควบคุมโรคหลังการเก็บเกี่ยวของผลส้มพันธุ์สายน้ำผึ้งด้วยวิธีการต่างๆ โดยแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่ 1 ผสมสารสกัดจากพรอพอลิส ในส่วนต่างๆ ได้แก่ ส่วนที่ละลายในเมทานอล (PM) ส่วนที่ละลายในน้ำ (PW) ส่วนที่ละลายในไดคลอโรมีเทน (PD) อัตราส่วน 0.1 เปอร์เซ็นต์ ในสารเคลือบผิวที่มีไขผึ้ง 4 เปอร์เซ็นต์ กลุ่มที่ 2 นำเอาพรอพอลลิสสดผสมในสารเคลือบผิวที่ประกอบด้วยไขผึ้ง 4 เปอร์เซ็นต์ที่ความเข้มข้นต่างๆ ได้แก่ พรอพอลิส 2, 4 เปอร์เซ็นต์, และการใช้พรอพอลิส 4 เปอร์เซ็นต์แทนไขผึ้ง กลุ่มที่ 3 การใช้สารกำจัดเชื้อรา Amista (A) อัตราส่วน 0.1 เปอร์เซ็นต์ ในสารเคลือบผิวที่มีไขผึ้ง 4 เปอร์เซ็นต์ และสารเคลือบผิวทางการค้า Zidrow ซึ่งมีส่วนผสมของสารกำจัดเชื้อรา Imazalil โดยนำสารเคลือบผิวทั้งหมดไปทดสอบประสิทธิภาพการเคลือบผิวและฤทธิ์การต้านการเจริญของเชื้อรา ด้วยการทำแผลและปลูกเชื้อด้วยสารแขวนลอยสปอร์ของเชื้อ Penicilium digitatum 2.3×106 สปอร์ต่อ 1 มิลลิลิตร จำนวน 20 ไมโครลิตร บนผลส้มสายน้ำผึ้งแล้วนำไปเคลือบผิวด้วยสารเคลือบผิวสูตรต่างๆ ที่เตรียมขึ้น ผลการทดลองผลพบว่าสารเคลือบผิวชนิดต่างๆ มีผลต่อยับยั้งการเกิดโรค เมื่อเปรียบเทียบกับชุดควบคุมที่ไม่เคลือบผิว สารเคลือบผิวที่ทำมาจากพรออลิส 4 เปอร์เซ็นต์โดยไม่มีไขผึ้ง สามารถชะลอการเกิดโรคได้ดีที่สุด โดยมีขนาดของแผลเล็กที่สุด และมีเปอร์เซ็นต์การเกิดโรคน้อยที่สุด ดังนั้นแสดงว่าสามารถนำพรอพอลิสมาใช้ในการผสมเป็นสารเคลือบผิวเพื่อชะลอการเกิดโรคหลังการเก็บเกี่ยวของผลส้มพันธุ์สายน้ำผึ้งได้