การใช้กรดซาลิไซลิกภายหลังการเก็บเกี่ยวในการป้องกันอาการไส้สีน้ำตาลของสับปะรดกลุ่มควีนพันธุ์สวี
ปรียานุช แสงประยูร สุริยัณห์ สุภาพวานิช พรรณิภา ยั่วยล เฉลิมชัย วงษ์อารีย์ และ พนิดา บุญฤทธิ์ธงไชย
วารสารวิทยาศาสตร์เกษตร 50 (3 พิเศษ): 48-51. 2562.
2562
บทคัดย่อ
งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาประสิทธิภาพของกรดซาลิไซลิกในการป้องกันการเกิดไส้สีน้ำตาลในสับปะรดกลุ่มควีน พันธุ์สวี ระหว่างการเก็บรักษาที่อุณหภูมิต่ำ โดยจุ่มสับปะรดทั้งผลลงในสารละลายกรดซาลิไซลิก (SA) ที่ความเข้มข้น 5.0 mM ที่เวลา 1 2 และ 3 ชั่วโมง เปรียบเทียบกับชุดควบคุมที่ไม่ได้จุ่มสารละลาย เก็บรักษาที่อุณหภูมิ 13±1 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ร้อยละ 90 เป็นเวลา 5 และ 10 วัน และนำออกมาไว้ที่อุณหภูมิห้องเป็นเวลา 2 วัน ผลการทดลองพบว่าการจุ่มสับปะรดในสารละลาย SA ความเข้มข้น 5.0 mM เป็นเวลา 2 ชั่วโมง สามารถชะลอการเกิดอาการเกิดไส้สีน้ำตาล และรักษาค่าความสว่าง (L*) ค่าการเปลี่ยนแปลงของสี (∆E*) และค่าคะแนนการเกิดอาการไส้สีน้ำตาลของสับปะรดได้ดีกว่าชุดการทดลองอื่น ดังนั้นจึงเลือกทำการเปรียบเทียบคุณภาพของสับปะรดที่จุ่มด้วยสารละลาย SA ความเข้มข้น 5.0 mM เป็นเวลา 2 ชั่วโมง และชุดควบคุม โดยทดสอบปริมาณการรั่วไหลของไอออน และปริมาณ Malondialdehyde (MDA) พบว่าการจุ่มสับปะรดในสารละลาย SA ลดปริมาณการรั่วไหลของไอออน และปริมาณ Malondialdehyde อย่างมีนัยสำคัญ ดังนั้นการใช้สารละลายกรดซาลิไซลิกที่ความเข้มข้น 5.0 mM ที่เวลา 2 ชั่วโมง เป็นวิธีการทางเลือกหนึ่งที่สามารถชะลอการเกิดอาการไส้สีน้ำตาลในสับปะรดกลุ่มควีน พันธุ์สวี