ผลของการใช้สภาวะปราศจากออกซิเจนต่อการเปลี่ยนแปลงคุณภาพของสับปะรดตัดแต่ง
ประกายดาว ยิ่งสง่า และ ชัยรัตน์ เตชวุฒิพร
วารสารวิทยาศาสตร์เกษตร 50 (3 พิเศษ): 71-74. 2562.
2562
บทคัดย่อ
วัตถุประสงค์ของงานวิจัยนี้เพื่อศึกษาผลของสภาวะปราศจากออกซิเจนต่อการเปลี่ยนแปลงคุณภาพของสับปะรดตัดแต่งพันธุ์ตราดสีทอง ซึ่งใช้ระยะเวลาที่แตกต่างกัน ได้แก่ 0 (ชุดควบคุม) 10, 20 และ 30 ชั่วโมง โดยทำการวิเคราะห์ผลการเปลี่ยนแปลงด้านสี (ค่า L*, b* และ hue angle) และ การทดสอบทางประสาทสัมผัส (การทดสอบความชอบโดยใช้ 5-point hedonic scale และการประเมินอาการผิดปกติด้านสี) ทุก ๆ 2 วัน เป็นเวลา 8 วัน พบว่า การปรับสภาวะปราศจากออกซิเจนไม่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงค่า hue angle ตั้งแต่วันที่ 0 ของการเก็บรักษา ในขณะที่ค่าความสว่าง (L* value) ของสับประรดที่ผ่านการปรับสภาวะปราศจากออกซิเจนเป็นระยะเวลา 30 ชั่วโมง มีค่ามากกว่า ส่วนค่าสีเหลือง (b*value) มีแนวโน้มน้อยกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับชุดการทดลองอื่น นอกจากนี้ ยังมีผลต่อคะแนนทดสอบทางประสาทสัมผัสด้านสี และลักษณะปรากฏโดยรวมที่ดีกว่า ในขณะที่พบการเกิดสีน้ำตาลในชุดควบคุมซึ่งมีคะแนนการประเมินการเกิดสีน้ำตาลมากที่สุด