บทคัดย่องานวิจัย

ประสิทธิภาพของสารเคมีกำจัดเชื้อราที่ใช้ทั่วไปในสวนทุเรียน และสารเคมีกำจัดเชื้อราอื่นๆ ต่อการเจริญของเชื้อรา Phomopsis spp. สาเหตุโรคผลเน่าและโรคใบจุดทุเรียน

พรศิริ บุญพุ่ม สมศิริ แสงโชติ และ เนตรนภิส เขียวขำ

วารสารวิทยาศาสตร์เกษตร 50 (3 พิเศษ): 143-146. 2562.

2562

บทคัดย่อ

โรคผลเน่าทุเรียนส่งผลกระทบต่อตลาดการส่งออกทุเรียนผลสดของประเทศไทย โดยมีสาเหตุจากเชื้อรา Phomopsis spp. เป็นเชื้อที่สำคัญก่อให้เกิดทั้งโรคผลเน่าและโรคใบจุด จึงได้มีการศึกษาประสิทธิภาพของสารเคมีในการยับยั้งการเจริญของเชื้อรา Phomopsis spp.  ด้วยวิธี microtiter plate method โดยสุ่มเก็บตัวอย่างโรคจากใบและผลทุเรียนจาก 12 จังหวัด ที่เป็นแหล่งปลูกทุเรียน จำนวน 109 ไอโซเลท เมื่อทดสอบกับสารเคมีที่ใช้ฉีดพ่นทางใบในสวนทุเรียนโดยทั่วไป 3 ชนิด ประกอบด้วย mancozeb, carbendazim  และ pyraclostrobin และสารเคมีกลุ่มอื่นๆที่นำมาทดสอบ 3 ชนิด ประกอบด้วย propineb, difenoconazole และ hexaconazole ที่ความเข้มข้น ลดลงครึ่งหนึ่งของอัตราแนะนำ อัตราแนะนำ และเพิ่มขึ้นครึ่งหนึ่งของอัตราแนะนำ พบว่าสารเคมี 5 ชนิด ที่ใช้ในการทดสอบสามารถยับยั้งการเจริญของเชื้อรา Phomopsis spp. ได้ทุกไอโซเลท ในขณะที่ สาร carbendazim ที่ความเข้มข้น ลดลงครึ่งหนึ่งของอัตราแนะนำ อัตราแนะนำ และเพิ่มขึ้นครึ่งหนึ่งของอัตราแนะนำ สามารถควบคุมเชื้อรา Phomopsis spp. ได้บางส่วนเท่านั้น โดยมีจำนวนที่ดื้อต่อสารเคมี คิดเป็น 18.34%, 14.68% และ 8.26% ตามลำดับ ซึ่งสาร carbendazim เป็นสารเคมีที่พบการใช้มากในการฉีดพ่นในสวนทุเรียน