ผลของสารเคลือบผิวบางชนิดต่อการควบคุมการเกิดโรคขั้วหวีเน่าของกล้วยหอมทอง
กัลยา ศรีพงษ์ ทันวลี ศรีนนท์ ขวัญกมล เกตุแก้ว อภิรดี อุทัยรัตนกิจ และ ผ่องเพ็ญ จิตอารีย์รัตน์
วารสารวิทยาศาสตร์เกษตร 50 (3 พิเศษ): 163-166. 2562.
2562
บทคัดย่อ
งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลของสารเคลือบผิวบางชนิดต่อการควบคุมการเกิดโรคขั้วหวีเน่าของกล้วยหอมทองในระหว่างการเก็บรักษา โดยการนำกล้วยหอมทองที่มีความแก่ประมาณ 75 – 80 เปอร์เซ็นต์ มาเคลือบขั้วหวีด้วยสารเคลือบผิว shellac, sucrose fatty acid ester ความเข้นข้น 10 เปอร์เซ็นต์ และ paraffin ความเข้นข้น 100 เปอร์เซ็นต์ เปรียบเทียบกับการจุ่มขั้วหวีด้วยสารกำจัดเชื้อรา prochloraz ความเข้มข้น 250 ppm (ชุดควบคุมที่ 1) และกล้วยหอมทองที่ไม่เคลือบขั้วหวี (ชุดควบคุมที่ 2) บรรจุกล้วยหอมทองทุกกรรมวิธีในกล่องกระดาษลูกฟูก เก็บรักษาที่อุณหภูมิ 13 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 85-90 เปอร์เซ็นต์ นาน 21 วัน พบว่าการเคลือบขั้วหวีกล้วยด้วย paraffin มีประสิทธิภาพในการควบคุมการเกิดโรคขั้วหวีเน่าได้เทียบเท่ากับการใช้สารกำจัดเชื้อรา prochloraz ในขณะที่การใช้ shellac และ sucrose fatty acid ester มีเปอร์เซ็นต์และความรุนแรงของการเกิดโรคขั้วหวีเน่าไม่แตกต่างกับการไม่เคลือบขั้วหวี สำหรับผลของการเคลือบขั้วหวีต่อคุณภาพของกล้วย พบว่าการเคลือบขั้วหวีกล้วยด้วย paraffin ช่วยชะลอการเปลี่ยนแปลงสีของขั้วหวี ชะลอการอ่อนนิ่มของขั้วหวี รักษาปริมาณสารประกอบฟีนอลิกและกิจกรรมเอนไซม์ phenyalanine ammonia lyase (PAL) ของขั้วหวีกล้วยได้ดีที่สุด และการเคลือบขั้วหวีกล้วยด้วย paraffin ไม่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงสีเปลือก และปริมาณของแข็งทั้งหมดที่ละลายน้ำได้ (TSS) ของผลกล้วย