การตอบสนองต่อสารเคมีของเชื้อรา Colletotrichum gloeosporioides และ Colletotrichum siamense สาเหตุโรคหลังการเก็บเกี่ยวของมะม่วง
รัติยา พงศ์พิสุทธา ชัยณรงค์ รัตนกรีฑากุล และ สัณฐิติ บินคาเดอร์
วารสารวิทยาศาสตร์เกษตร 50 (3 พิเศษ): 175-178. 2562.
2562
บทคัดย่อ
เชื้อรา Colletotrichum gloeosporioides และ C. siamense พบว่ามีรายงานการก่อให้เกิดโรคแอนแทรคโนส และโรคหลังการเก็บเกี่ยวของมะม่วงทั่วโลก จากการศึกษาทางสัณฐานวิทยา และอณูชีวโมเลกุลโดยการเปรียบเทียบลำดับนิวคลีโอไทด์บริเวณ Internal transcribed spacer (ITS) ในครั้งนี้ พบว่าเชื้อราทั้ง 2 สปีชีส์มีความคล้ายคลึงกันทางชีวภาพค่อนข้างสูง และเมื่อทำการตรวจสอบการตอบสนองต่อสารเคมีป้องกันกำจัดเชื้อรา 4 ชนิด ที่ 6 ระดับความเข้มข้น ผลการทดลองพบว่าสารเคมี prochloraz ที่ความเข้มข้นตั้งแต่ 10 ppm และ difenoconazole ที่ความเข้มข้นตั้งแต่ 100 ppm สามารถยับยั้งการเจริญของเชื้อราทั้ง 2 สปีชีส์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยไม่พบการเจริญของเส้นใยเชื้อรา สำหรับสารเคมี azoxystrobin พบว่าเชื้อราทั้ง 2 สปีชีส์ สามารถเจริญได้ในทุกความเข้มข้น แต่ในสารเคมี carbendazim เชื้อรามีการตอบสนองที่แตกต่างกัน คือ เชื้อรา C. gloeosporioides ไม่สามารถเจริญได้บนอาหารเลี้ยงเชื้อที่ผสมสารเคมี carbendazim ที่ความเข้มข้นตั้งแต่ 100 ppm เป็นต้นไป ในขณะที่เชื้อรา C. siamense สามารถเจริญได้บนอาหารดังกล่าวในทุกความเข้มข้น ดังนั้นการระบุสปีชีส์เชื้อราสาเหตุโรคที่แน่ชัด จะเป็นตัวช่วยในการตัดสินใจใช้สารเคมีควบคุม และป้องกันเชื้อราได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป