บทคัดย่องานวิจัย

ประสิทธิภาพของเชื้อแบคทีเรียในการลดสารพิษซีราลีโนนในสภาพหลอดทดลอง

พิสุทธิ์ เขียวมณี สรรเสริญ รังสุวรรณ ชัยณรงค์ รัตนกรีฑากุล และ รัติยา พงศ์พิสุทธา

วารสารวิทยาศาสตร์เกษตร 50 (3 พิเศษ): 183-186. 2562.

2562

บทคัดย่อ

ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และธัญพืช พบการปนเปื้อนของสารพิษซีราลีโนนมากกว่า 70 เปอร์เซ็นต์ทั่วโลก โดยสารพิษซีราลีโนนสร้างจากเชื้อรา Fusarium graminearum เป็นหลัก เมื่อเกิดการปนเปื้อนในระบบการผลิตจะส่งผลต่อสุขภาพของมนุษย์ และสัตว์ การใช้ประโยชน์จากเอนไซม์ที่ผลิตได้จากเชื้อจุลินทรีย์เป็นแนวทางหนึ่งที่สามารถลดการปนเปื้อนของสารพิษซีราลีโนนในระบบการผลิตได้ จากการแยกเชื้อจุลินทรีย์จากธรรมชาติ จำนวน 21 แหล่ง และนำมาทดลองด้วยวิธีการ acclimatization ในสารละลายสารพิษซีราลิโนนความเข้มข้น 25 ppm หลังจากทำการทดลองเป็นระยะเวลา 30 วัน พบเชื้อจุลินทรีย์จาก 4 แหล่งที่สามารถลดปริมาณสารพิษซีราลีโนนได้ และแยกเชื้อจุลินทรีย์บริสุทธิ์ได้ทั้งหมด 7 ชนิด จากนั้นทดสอบความสามารถในการลดสารพิษซีราลีโนนในสภาพสารละลาย ที่ความเข้มข้น 25 ppm พบว่าเชื้อแบคทีเรียไอโซเลท Z1, Z3 และ Z4 มีประสิทธิภาพในการลดปริมาณสารพิษซีราลีโนนได้ 100 เปอร์เซ็นต์ ภายในระยะเวลา 30 วัน การย้อมแกรมพบว่าเป็นเชื้อแบคทีเรียแกรมบวก และเมื่อทำการระบุชนิดด้วยลำดับนิวโคโอไทด์โดยใช้ส่วน 16S ribosomal RNA พบว่าไอโซเลท Z1 และ Z3 มีความใกล้เคียงกับเชื้อแบคทีเรีย Bacillus amyloliquefaciens  และ ไอโซเลท Z4 มีความใกล้เคียงกับเชื้อแบคทีเรีย B. velezensis โดยเชื้อแบคทีเรียดังกล่าวมีแนวโน้มที่จะเป็นเชื้อแบคทีเรียที่มีประสิทธิภาพในการลดปริมาณสารพิษซีราลิโนน