การตรวจวิเคราะห์การปนเปื้อนของ Escherichia coli บนผักกาดหอมด้วยวิธีการประมวลภาพ
ภัทรพงษ์ สู่หนองบัว จินตพร กลิ่นสุข นัฐพิชน บุตรี สุวรรณ เอกรัมย์ จรูญศักดิ์ สมพงศ์ และ วีระศักดิ์ เลิศสิริโยธิน
วารสารวิทยาศาสตร์เกษตร 50 (3 พิเศษ): 256-259. 2562.
2562
บทคัดย่อ
การปนเปื้อนของจุลินทรีย์ก่อโรคในอาหารและผลผลิตทางการเกษตรหลังการเก็บเกี่ยว หากบริโภคเข้าไปอาจส่งผลทำให้เกิดอันตรายต่อผู้บริโภคได้ งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาวิธีการตรวจสอบการแพร่กระจายของการปนเปื้อนจุลินทรีย์ก่อโรคบนผักกาดหอมด้วยวิธีการประมวลภาพถ่าย โดยนำใบผักกาดหอมล้างด้วยสารลดแรงตึงผิวและหยดเชื้อ E. coli ปริมาณ 2.7x109 CFU.ml-1 ลงบนใบผักกาดหอม โดยแต่ละพิกเซลมีจำนวนเชื้อ E. coli 1.1x103 CFU.ml-1.pixel-1 และเก็บตัวอย่างที่อุณหภูมิ 8 องศาเซลเซียส ซึ่งก่อให้เกิดไบโอฟิล์มหรือโครงสร้างยึดเกาะกับพื้นผิวที่ถูกสร้างโดยกลุ่มของจุลินทรีย์ที่อยู่รวมกันบนใบผักกาดหอม จากนั้นจึงตรวจสอบโดยใช้ค่าสเปคตรัมของการสะท้อนภาพถ่ายสีภายใต้สภาวะความยาวคลื่นแสงที่กระตุ้นการตอบสนองของเชื้อที่ย้อมด้วยสารละลาย PI ด้วยการเปล่งแสงออกมาที่ความยาวคลื่น 620±10 นาโนเมตร โดยแสงที่เปล่งออกมานั้นจะถูกถ่ายด้วยกล้อง DSLR ผ่านเลนส์ที่กรองด้วยฟิลเตอร์ในช่วงความยาวคลื่นสูงกว่า 530 นาโนเมตรสามารถผ่านได้ จึงทำให้ค่าของสเปคตรัมการสะท้อนที่ได้จากภาพถ่ายสีแต่ละพิกเซลมีแถบการดูดกลืนแสงที่ความยาวคลื่น 620±10 นาโนเมตร ซึ่งเป็นช่วงความยาวคลื่นที่ไบโอฟิล์มของ E. coli เปล่งแสงสะท้อนช่วงเดียวกันกับการตรวจสอบด้วยวิธี CLSM และพบว่าพื้นที่การปนเปื้อนของเชื้อ E. coli บนผักกาดหอมหลังจากการหยดเชื้อ 5 วัน เพิ่มขึ้นถึง 1.3x105 CFU.ml-1