การยับยั้งจุลินทรีย์ที่ปนเปื้อนในผักและผลไม้โดยใช้ฟิล์มไคโตซาน-กรดแกลลิค
จุฑาทิพย์ โพธิ์อุบล และ พริมา พิริยางกูร
วารสารวิทยาศาสตร์เกษตร 50 (3 พิเศษ): 264-267. 2562.
2562
บทคัดย่อ
งานวิจัยนี้ได้ศึกษาผลของฟิล์มไคโตซานผสมกรดแกลลิกต่อการยับยั้งจุลินทรีย์ที่พบการปนเปื้อนในผักและผลไม้ โดยได้ทดสอบกับแบคทีเรีย 2 สายพันธุ์ ได้แก่ Escherichia coli และ Salmonella sp. ใช้สารละลายไคโตซานความเข้มข้นร้อยละ 1 ในสารละลายกรดแอซีติกความเข้มข้นร้อยละ 1 และเติมกลีเซอรอลความเข้มข้นร้อยละ 1 ลงไปเพื่อช่วยในการขึ้นรูปฟิล์ม นำสารละลายไคโตซานไปผสมกับกรดแกลลิกที่ความเข้มข้นร้อยละ 0 (ชุดควบคุม), 0.5, 1.0 และ 1.5 หลังจากนั้นเทสารละลายไคโตซานผสมกรดแกลลิกปริมาตร 20 มิลลิลิตร ลงในจานอาหารเลี้ยงเชื้อ นำไปอบให้แห้งที่อุณหภูมิ 50 องศาเซลเซียส เป็นเวลา 72 ชั่วโมง แล้วนำไปทดสอบความสามารถในการยับยั้ง Escherichia coli และ Salmonella sp. โดยตัดแผ่นฟิล์มไคโตซาน-กรดแกลลิกขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 5 มิลลิเมตร วางลงบนผิวหน้าอาหาร Eosin Methylene Blue Agar (EMB) และ Xylose Lysine Deoxycholate Agar (XLD) ซึ่งผ่านการเกลี่ยด้วยเซลล์แขวนลอยของเชื้อ Escherichia coli และ Salmonella sp. (105 Log CFU/ml) ปริมาตร 0.1 มิลลิลิตร ตามลำดับ นำจานอาหารเลี้ยงเชื้อไปบ่มที่อุณหภูมิ 35+2 องศาเซลเซียส เป็นเวลา 24+3 ชั่วโมง ตรวจวัดความสามารถในการยับยั้งการเจริญของเชื้อโดยดูจากขนาดของวงใสรอบแผ่นฟิล์มไคโตซาน-กรดแกลลิก ฟิล์มไคโตซานที่ผสมกรดแกลลิกความเข้มข้นร้อยละ 0.5, 1.0 และ 1.5 สามารถยับยั้งจุลินทรีย์ทั้ง Escherichia coli และ Salmonella sp. ได้ โดยสามารถยับยั้งได้ประสิทธิภาพดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<0.05) เมื่อความเข้มข้นของกรดแกลลิกเพิ่มสูงขึ้น