บทคัดย่องานวิจัย

ศักยภาพของเครื่อง NIR แบบพกพาสำหรับตรวจสอบคุณภาพของผลมะม่วงเปรียบเทียบกับเครื่อง NIR ระดับการค้า

ปาริชาติ เทียนจุมพล ศุภลักษณ์ ชิตวรกุล ณัฏฐวัฒณ์ หมื่นมาณี และ ดนัย บุณยเกียรติ

วารสารวิทยาศาสตร์เกษตร 50 (3 พิเศษ): 344-347. 2562.

2562

บทคัดย่อ

ศึกษาศักยภาพของเครื่อง NIR แบบพกพาเปรียบเทียบกับเครื่อง NIR ในระดับการค้า โดยนำผลมะม่วงน้ำดอกไม้สีทองมาบ่มให้สุกที่อุณหภูมิ 30 องศาเซลเซียส แล้วจึงวัดสเปกตรัมของผลมะม่วงด้วยเครื่องทั้งสองชนิดก่อนนำไปตรวจวัดปริมาณของแข็งทั้งหมดที่ละลายน้ำได้ (TSS) ในน้ำคั้น แล้วสร้างสมการเทียบมาตรฐานด้วยวิธี partial least squares regression (PLSR) โดยใช้โปรแกรมสำเร็จรูป พบว่า ผลมะม่วงมีค่า TSS ระหว่าง 12.75-20.58% ซึ่งสเปกตรัมของผลมะม่วงที่วัดได้จากเครื่อง NIR ทั้งสองมีลักษณะแตกต่างกัน ส่วนสมการเทียบมาตรฐาน TSS ที่ดีที่สุดของเครื่อง NIR แบบพกพา มีค่า coefficient of determination (R2), root mean square error of cross validation (RMSECV) และ average of difference between actual value and NIRS predicted value (Bias) เท่ากับ 0.57, 1.27% และ 0% ตามลำดับ ส่วนเครื่อง NIR ระดับการค้า มีค่าเท่ากับ 0.91, 0.56% และ -0.01% ตามลำดับ ดังนั้นเครื่อง NIR แบบพกพา สามารถใช้ในการตรวจสอบคุณภาพของผละม่วงน้ำดอกไม้สีทองได้ และหากต้องการเพิ่มความแม่นยำเช่นเดียวกับเครื่อง NIR ระดับการค้า ควรต้องศึกษาปัจจัยต่างๆ ที่ส่งผลต่อการทำงาน แล้วจึงพัฒนาให้นำไปใช้ตรวจสอบคุณภาพผลไม้ชนิดอื่นได้ด้วย