สารต้านอนุมูลอิสระในดอกโสนและแคที่ระยะความแก่แตกต่างกัน
ธนากร สว่างชาติ ปณธร จันทนพ อรรถพร ร้อยถิ่น อุทร ชิขุนทด กิตติ โพธิปัทมะ และ สมโภชน์ น้อยจินดา
วารสารวิทยาศาสตร์เกษตร 46 (3/1 พิเศษ): 203-206. 2558.
2558
บทคัดย่อ
ดอกโสน (Sesbania javanica Miq.) และแค [Sesbania grandiflora (L.) Pers.] ใช้ในการปรุงอาหารพื้นบ้านของไทยเป็นระยะเวลายาวนาน มีรายงานหลายฉบับได้กล่าวว่าส่วนที่รับประทานได้ของดอกจากพืชทั้งสองชนิดนี้มีสารต้านอนุมูลอิสระอยู่ อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีข้อมูลของสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพและกิจกรรมการต้านอนุมูลอิสระในกลีบดอกโสนและแคที่ระยะความแก่ต่างๆ งานวิจัยนี้จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาข้อมูลสำคัญดังกล่าวจากกลีบดอกโสนและแคทั้ง 4 ระยะ พบว่าปริมาณเฉลี่ยของฟีโนลิก ฟลาโวนอยด์ และแคโรทีนอยด์ ในทุกระยะของกลีบดอกโสนมีค่ามากกว่ากลีบดอกแค 4.5, 10 และ 12 เท่า ตามลำดับ นอกจากนี้ยังไม่พบความแตกต่างกันของฟีโนลิกในกลีบดอกโสนระยะ 2, 3 และ 4 ในขณะที่ปริมาณฟีโน ลิกในกลีบดอกแคทั้ง 4 ระยะนั้นมีค่าเท่ากัน ฟลาโวนอยด์มีปริมาณสูงสุดในกลีบดอกโสนระยะ 2 ถึงแม้ว่าจะพบแคโรทีนอยด์มีปริมาณสูงสุดในกลีบดอกโสนระยะ 1 และระยะ 4 ปริมาณของสารต้านอนุมูลอิสระชนิดนี้ในกลีบดอกแคจะมีค่าใกล้เคียงกันในทุกระยะ ความสามารถในการต้านอนุมูลอิสระ (DPPH free radical scavenging activity) ในกลีบดอกโสนระยะ 1 จะต่ำที่สุด ในขณะที่กิจกรรมดังกล่าวนี้ ไม่มีความแตกต่างกันในกลีบดอกแคจากระยะ 1 ระยะ 2 และระยะ 3 และจะมีค่าลดลงในกลีบดอกระยะ 4 โดยภาพรวมความสามารถในการต้านอนุมูลอิสระในกลีบดอกโสนและแคมีค่าใกล้เคียงกัน