บทคัดย่องานวิจัย

การพัฒนาซองควบคุมการปล่อยไอระเหยเอทานอลในบรรจุภัณฑ์แอกทีฟสำหรับหอมแดงสดปอกเปลือก

พัชรี มะลิลา วีรเวทย์ อุทโธ และ ฤทธิรงค์ พฤฑฒิกุล

วารสารวิทยาศาสตร์เกษตร 46 (3/1 พิเศษ): 223-226. 2558.

2558

บทคัดย่อ

การวิจัยนี้ได้พัฒนาซองควบคุมการปล่อยไอระเหยเอทานอล (ขนาด 5´5 cm) ด้านหน้าของซองควบคุมฯ ทำจากฟิล์ม nylon/PE และด้านหลังทำจากฟิล์ม Al/PE ซองควบคุมฯ บรรจุซิลิกาเจล (น้ำหนักแห้งประมาณ 1 g) ที่อิ่มตัวด้วยเอทานอลเหลว ในการศึกษานี้ ได้ทำการศึกษา 2 ส่วน  คือ การเปลี่ยนแปลงน้ำหนักของเอทานอลบนซิลิกาเจลภายหลังจากการปล่อยไอระเหยจากซองควบคุมฯ และการสะสมของไอระเหยเอทานอลในบรรยากาศของบรรจุภัณฑ์แอกทีฟ ที่อุณหภูมิ 25°C เป็นเวลา 7 วัน ผลการศึกษาแสดงให้เห็นว่า น้ำหนักของเอทานอลลดลงเล็กน้อย แต่มีการลดลงของน้ำหนักในระดับร้อยละ1.08-1.09 ภายหลังจากเก็บรักษา 3 วัน การเปลี่ยนแปลงน้ำหนักในปริมาณเพียงเล็กน้อยอาจเนื่องจากสมบัติการยอมให้ไอระเหยเอทานอลซึมผ่านฟิล์ม nylon/PE มีค่าต่ำ ซึ่งส่งผลให้การปล่อยไอระเหยเอทานอลออกจากซองควบคุมฯ อย่างช้าๆ และต่อเนื่อง การสะสมไอระเหยเอทานอลในบรรยากาศบรรจุภัณฑ์แอกทีฟที่บรรจุซองควบคุมฯ และหอมแดงลงในถาดพลาสติกแข็ง PP ปิดปากถาดด้วยฟิล์ม PP พบว่า ความเข้มข้นของไอระเหยเอทานอลมีค่าเพิ่มขึ้นด้วยอัตราที่สูงในช่วงแรกและมีแนวโน้มคงที่ภายหลัง 3 วัน ซึ่งไอระเหยเอทานอลที่สะสมในบรรยากาศบรรจุภัณฑ์นั้นส่งผลต่อการเพิ่มขึ้นของความเข้มข้นเอทานอลในหอมแดงบรรจุแอกทีฟและชะลอการเปลี่ยนแปลงคุณภาพด้านเนื้อสัมผัสและสี (โดยเฉพาะค่า L* และ hº) ของหอมแดงแต่ไม่มีผลอย่างชัดเจนต่อความเข้มข้นก๊าซ O2 และ CO2 ในบรรยากาศบรรจุภัณฑ์ โดยระดับของจุลินทรีย์ในหอมแดงในบรรจุภัณฑ์แอกทีฟ มีแนวโน้มที่ต่ำกว่าในสิ่งทดลองควบคุม ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ไอระเหยเอทานอลจากซองควบคุมฯ มีศักยภาพในการชะลอการเสื่อมสภาพของหอมแดงสดปอกเปลือกที่เกิดจากจุลินทรีย์ได้ถึงแม้จะเก็บรักษาที่อุณหภูมิสูง