ผลของสารละลายพัลซิ่งและปักแจกันต่อคุณภาพของช่อดอกบูเก้
วิษณุ เมืองทิพย์ เฉลิมชัย วงษ์อารี และ มัณฑนา บัวหนอง
วารสารวิทยาศาสตร์เกษตร 46 (3/1 พิเศษ): 303-306. 2558.
2558
บทคัดย่อ
ช่อดอกบูเก้เป็นที่นิยมอย่างมากในอุตสาหกรรมไม้ตัดดอก แต่กลับมีอายุการใช้งานสั้นเนื่องจากอายุการใช้งานที่แตกต่างกันของดอกไม้แต่ละชนิดที่นำมาจัดช่อบูเก้ การเติมสารส่งเสริมคุณภาพหลังการเก็บเกี่ยวที่เหมาะสมนั้นเป็นตัวกำหนดคุณภาพและอายุการใช้งานของช่อดอกบูเก้ งานวิจัยนี้จึงมุ่งศึกษาการใช้ดอกไม้ 3 ชนิด คือ ดอกกุหลาบพันธุ์ ‘Holland’ ดอก เยอบีร่าสีขาว และดอกกล้วยไม้สกุลมอคคาร่าพันธุ์ ‘Nora Pink’ นำมาจัดช่อบูเก้ แล้วพัลซิ่งด้วยน้ำดีไอออไนซ์ (DI) และสารส่งเสริมคุณภาพที่มีกลูโคสเป็นองค์ประกอบ ที่ความเข้มข้น 10 g L-1 (LONG LIFE; LL สูตร cut flower food) นาน 24 ชั่วโมง หลังจากนั้นจึงย้ายไปปักแช่ในน้ำ DI สารละลาย LL และสารละลายที่มีคลอรีนเป็นองค์ประกอบ ที่ความเข้มข้น 140 µg L-1 (0.025% TOG-6®) วางไว้ ณ ห้องควบคุมอุณหภูมิ (21±2oC ความชื้นสัมพัทธ์ 70-80% ภายใต้แสงฟลูออเรสเซนต์ นาน 12 ชั่วโมง/วัน) ตลอดระยะเวลาการทดลอง พบว่า การพัลซิ่งด้วยสารละลาย LL แล้วย้ายไปปักแช่ในสารละลาย LL มีประสิทธิภาพในการปรับปรุงคุณภาพของช่อดอกบูเก้ โดยมีผลไปชะลอการลดลงของน้ำหนักสด ยับยั้งการผลิตเอทิลีน และยังชะลอการเสื่อมสภาพของช่อดอก ในขณะที่การพัลซิ่งด้วยน้ำ DI และ LL แล้วปักแช่ในสารละลาย TOG-6®สามารถชะลอการลดลงของอัตราการดูดน้ำ ยับยั้งการเจริญของเชื้อจุลินทรีย์ในน้ำปักแจกันได้อย่างมีนัยสำคัญยิ่ง (p<0.01) นอกจากนี้การพัลซิ่งแล้วปักแช่ในสารละลาย LL ยังสามารถยืดอายุใช้งานได้ถึง 6.0 วัน ในขณะที่การพัลซิ่งด้วยน้ำ DI และ LL แล้วปักแช่ช่อดอกบูเก้ในน้ำ DI มีอายุการใช้งานสั้นที่สุด เพียง 3.75วัน วิธีการจัดการหลังการเก็บเกี่ยวที่เหมาะสม เช่น การทำพัลซิ่งและการปักแช่ดอกไม้ในสารส่งเสริมคุณภาพ สามารถช่วยปรับปรุงคุณภาพและยืดอายุการใช้งานของช่อดอกบูเก้ได้