ศึกษาคุณสมบัติทางด้านกายภาพและอายุเก็บเกี่ยวที่เหมาะสมของถั่วฝักยาวพันธุ์ต่าง ๆ เพื่อรับประทานสดและแปรรูป
นิลวรรณ ลีอังกูรเสถียร ศิริพงษ์ คุ้มภัย มาโนช ทองเจียม และ จักรินทร์ เมฆแดง
รายงานประจำปี 2531 ศูนย์วิจัยพืชสวนจันทบุรี สถาบันวิจัยพืชสวน กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์, จันทบุรี. 147 หน้า.
2532
บทคัดย่อ
เนื่องจากถั่วฝักยาวมีอัตราการเจริญเติบโตภายหลังดอกบานสูง พร้อมทั้งมีการเปลี่ยนแปลง
สภาพภายหลังการเก็บเกี่ยวได้รวดเร็วมาก จึงไม่สามารถเก็บรักษาไว้ได้นาน หรือขนส่งไปเป็น
ระยะทางไกล ๆ ได้ การศึกษาคุณภาพเพื่อหาระยะที่เหมาะสมในการเก็บเกี่ยวฝักเป็นแนวทาง
สำหรับแก้ปัญหาได้อีกวิธีหนึ่ง ดังนั้นการทดลองนี้จึงดำเนินการเพื่อศึกษาข้อมูลดังกล่าวกับถั่วฝักยาว
พันธุ์ 03-02-Ro-08 โดยทำการผูกช่อดอกเพื่อบันทึกดอกบาน และบันทึกข้อมูลการเปลี่ยนแปลง
ของฝัก เมื่ออายุ 4 6 8 10 และ 12 วันหลังดอกบาน ข้อมูลที่บันทึกประกอบด้วยความกว้าง
ความยาว น้ำหนักสด สีของผิวฝัก ความหวาน จำนวนเมล็ด/ฝัก ความหนาแน่น ความกรอบ
และความสม่ำเสมอของความกว้างภายในฝัก ผลการศึกษาสรุปได้ดังนี้ ขนาดฝักประกอบด้วย
ความกว้าง ความยาว และน้ำหนักสดของฝัก จะแปรตามอายุ สีของผิวฝักเข้มข้น (YG 144 A)
สีจะเปลี่ยนเป็นสีเขียวอมเหลืองหรือสีเขียวอ่อน (YG 144 B) เมื่ออายุ 8-10 วัน แล้วจะเปลี่ยน
เป็นสีเขียวซีด (YG 145 B) เมื่ออายุ 12 วันหลังดอกบาน ความหวานเปลี่ยนแปลงเล็กน้อย
ระหว่างอายุ 8-12 วัน (5.6-5.8 องศา Brix) สำหรับคุณภาพในการบริโภคซึ่งประกอบด้วย
ความกรอบ ความแน่นของฝัก และความสม่ำเสมอของความกว้างภายในฝักลดลง เมื่ออายุฝัก
มากขึ้น ซึ่งเมื่อถึงอายุ 12 วันหลังดอกบาน คุณภาพในการบริโภคลดลงเลยระดับที่ตลาดยอมรับ
ดังนั้นอายุที่เหมาะสมในการเก็บเกี่ยวถั่วฝักยาวอยู่ระหว่าง 8-10 วันหลังดอกบาน โดยพิจารณา
ขนาดฝัก สีของผิวฝักความหวาน และคุณภาพในการบริโภค