บทคัดย่องานวิจัย

การศึกษาระยะเวลาที่เหมาะสมในการเก็บเกี่ยวไม้สกุลระกำ

นิลวรรณ ลีอังกูลเสถียร และ สุขวัฒน์ จันทรปรรณิก

รายงานประจำปี 2531 ศูนย์วิจัยพืชสวนจันทบุรี สถาบันวิจัยพืชสวน กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์, จันทบุรี. 147 หน้า.

2532

บทคัดย่อ

การศึกษาระยะเวลาที่เหมาะสมในการเก็บเกี่ยวไม้สกุลระกำ

การศึกษาระยะเวลาที่เหมาะสมในการเก็บเกี่ยวไม้สกุลระกำ ดำเนินการศึกษา

ที่สถานีทดลองพืชสวนพลิ้ว ศูนย์วิจัยพืชสวนจันทบุรี โดยบันทึกข้อมูลการเจริญเติบโตตั้งแต่

ดอกเริ่มบานจนกระทั่งสุกแก่พร้อมที่จะเก็บเกี่ยวของไม้สกุลระกำ จากการศึกษาผลระกำตั้งแต่

อายุ 10 สัปดาห์ หลังดอกบานเป็นต้นไปจนกระทั่ง 34 สัปดาห์ หลังดอกบานพบว่าอายุเก็บเกี่ยว

ที่เหมาะสมที่สุดของระกำควรจะเป็นตั้งแต่สัปดาห์ที่ 28 หลังดอกบานเป็นต้นไป เพราะในช่วงนี้

ระกำมีความหวานสูงมาก 13-14 องศาบริก แต่อายุเก็บเกี่ยวที่เหมาะสมไม่ควรจะเกิน 30 สัปดาห์

หลังดอกบาน เพราะถ้าอายุมากกว่านี้แล้วระกำจะมีรสที่ผิดปกติไปเริ่มจะมีรสขม แสดงว่าแก่เกินไป

ไม่เหมาะที่จะรับประทานแล้ว ส่วนลักษณะอื่น ๆ ที่เกี่ยวกับคุณภาพนั้นพบว่า สีเปลือก จะแบ่งออก

เป็น 3 ช่วง ช่วงที่หนึ่ง สัปดาห์ที่ 10-16 หลังดอกบานจะเป็นสีน้ำตาล (Brown 200B) ช่วงที่

สองสัปดาห์ที่ 17-23 หลังดอกบาน สีจะพัฒนาเข้มขึ้นเป็นสีน้ำตาลเข้มจนเกือบดำ (Brown 200B)

และช่วงที่ 3 สีจะค่อย ๆ อ่อนลงเรื่อย ๆ จนถึงระดับสีส้ม (Grey Orange 171B) ในสัปดาห์ที่ 27

หลังดอกบานเป็นต้นไป สีเนื้อ แบ่งออกเป็น 3 ช่วง ช่วงแรก (สัปดาห์ที่ 10-19) สีจะยังค่อนข้างขาวอยู่

(Yellow-White 158 A) ช่วงที่สองตั้งแต่สัปดาห์ที่ 20-22 หลังดอกบานสีจะเข้มขึ้นเป็นสีเหลืองอ่อน (Yellow-Orange 19B)และช่วงสุดท้ายตั้งแต่สัปดาห์ที่ 23 หลังดอกบาน เป็นต้นไปจนถึงระยะ

เก็บเกี่ยวจะเป็นสีเหลืองอ่อน (Yellow-Orange 22 D) สีเมล็ด แบ่งออกเป็น 3 ช่วง เช่นกัน ช่วงแรก

สัปดาห์ที่ 10-19 หลังดอกบานจะยังคงเป็นสีขาวใส ต่อมาช่วงที่สอง สัปดาห์ที่ 20-23 หลังดอกบาน

สีจะเข้มขึ้นเป็นสีเหลือง (Grey Orange 194 C) และช่วงที่สุดท้าย ตั้งแต่สัปดาห์ที่ 24 หลังดอกบาน

เป็นต้นไป จนถึงระยะเก็บเกี่ยวสีจะเข้มขึ้นเป็นสีน้ำตาล(Grey-Brown 199 A)