ผลของอายุเก็บเกี่ยวต่อลักษณะฝักและคุณภาพของปุยนุ่น
วีรวัฒน์ นิลรัตนคุณ ปริญญา สีบุญเรือง บุญยืน ชิดชอบ เจริญศรี สร้อยทอง และ บังอร ธารพล
รายงานผลงานวิจัย ประจำปี 2535 ศูนย์วิจัยพืชไร่นครสวรรค์ สถาบันวิจัยพืชไร่ กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์. นครสวรรค์.
2535
บทคัดย่อ
เนื่องจากการสุกแก่ของฝักนุ่นไม่พร้อมกัน และฝักที่แก่ก่อนเปลือกมักจะแตก ทำให้เกษตรกรต้องรีบทำการเก็บเกี่ยว ประกอบกับเกษตรกรบางท้องที่นิยมเก็บเกี่ยวฝักโดยตัดกิ่งนุ่นลงมาทั้งกิ่งหรือสอยฝักลงมาทั้งต้น ซึ่งมักจะมีฝักที่อ่อนเกินไปปนลงมาอยู่เสมอ ทำให้คุณภาพของปุยนุ่นไม่ดีเท่าที่ควร ดังนั้นวัตถุประสงค์ของการทดลองนี้ เพื่อศึกษาอายุการเก็บเกี่ยวของนุ่นหรือลักษณะการสุกแก่ของนุ่นที่เหมาะสมแก่การเก็บเกี่ยว เพื่อให้ได้ปุยที่มีคุณภาพดีมากที่สุด ทำการทดลองที่ศูนย์วิจัยพืชไร่นครสวรรค์ โดยทำการผูกดอกวันดอกบาน แล้วเก็บเกี่ยวฝักนุ่น ที่อายุ 60, 70, 80, 90 และ 100 วัน นำมาศึกษาลักษณะต่าง ๆ ของฝัก เมล็ด และปุยนุ่น แล้วนำฝักนุ่นไปลดความชื้น โดยการผึ่งลม และตากแดด แล้วทำการเปรียบเทียบคุณภาพของปุย พบว่าปุยนุ่นเจริญเต็มที่ตั้งแต่อายุ 60 วัน การเก็บเกี่ยวฝักนุ่นที่มีอายุตั้งแต่อายุ 60 ขึ้นไป หรือตั้งแต่เมล็ดเริ่มเปลี่ยนเป็นสีดำ หรือสีของฝักเริ่มเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล คุณภาพของปุยไม่แตกต่างกัน ปัจจัยที่สำคัญคือการจัด การหลังเก็บเกี่ยว การทดลองมีปัญหาในการผูกดอก การร่วงของดอก จำนวนฝักที่เก็บเกี่ยวได้ ไม่เพียงพอ และลักษณะของฝักจากนุ่นแต่ละต้นไม่เหมือนกัน ทำให้มีปัญหาในการเปรียบเทียบลักษณะต่าง ๆ ในปีต่อไปจะทำการศึกษาลักษณะของฝักที่ปุยนุ่นพัฒนาเต็มที่แล้ว เพื่อกำหนดลักษณะที่สามารถใช้สังเกตุเพื่อทำการเก็บเกี่ยวให้ปุยนุ่นที่มีคุณภาพดีมากที่สุด