บทคัดย่องานวิจัย

ความสูญเสียของผลผลิตและคุณภาพเมล็ดของถั่วเขียวผิวดำในช่วงเวลาตากในแปลง

สมชาย บุญประดับ ธีระพล ศิลกุล จรัสพร ถาวรสุข และ นิรัตน์ วานิชวัฒนรำลึก

รายงานประจำปี 2535 ศูนย์วิจัยพืชไร่ชัยนาทและสถานีทดลองพืชไร่พิษณุโลก กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์. ชัยนาท.

2535

บทคัดย่อ

ความสูญเสียของผลผลิตและคุณภาพเมล็ดของถั่วเขียวผิวดำในช่วงเวลาตากในแปลง

เกษตรกรส่วนใหญ่จะกองตากต้นถั่วผิวดำไว้ในแปลงหลังเก็บเกี่ยว แล้วจึงนำไปนวดและฝัดต่อไป จากการปฏิบัติวิธีดังกล่าวจะทำให้ฝักถั่วเขียวผิวดำได้รับความเสียหายจากเชื้อราและฝักถั่วแตกและผุร่วงหล่นอยู่ในแปลงทำให้สูญเสียผลผลิตและคุณภาพเมล็ดไม่ดี จึงศึกษาหาความสูญเสียของผลผลิตและคุณภาพเมล็ดของถั่วเขียวผิวดำที่ตากในแปลงเป็นเวลาต่างกัน ดำเนินการทดลองที่แปลงทดลองของสถานีทดลองพืชไร่พิษณุโลก (สิงหาคม-พฤศจิกายน) ปี 2536 วางแผนการทดลองแบบ 3x5 Factorial in RCB มี 4 ซ้ำปัจจัยแรกเป็นพันธุ์ถั่วเขียวผิวดำ 3 พันธุ์ ปัจจัยที่สองเป็นระยะเวลาการตากในแปลง 5 ระยะตั้งแต่ 0 ถึง 28 วัน ผลการทดลองพบว่าถั่วเขียวผิวดำทั้ง 3 พันธุ์ให้ผลผลิตแตกต่างกันทางสถิติ พันธุ์พิษณุโลก 2 ให้ผลผลิตสูงสุด 223.8 กก./ไร่ รองลงมาคือ พันธุ์อู่ทอง 2 และพันธุ์พื้นเมืองให้ผลผลิตเท่ากับ 197.2 และ 176.6 กก./ไร่ ตามลำดับ ส่วนช่วงเวลาการตากต่างๆ ให้ผลผลิตไม่แตกต่างกันทางสถิติ การกองตากไว้ในแปลงเป็นเวลา 0, 7, 14, 21 และ 28 วัน ให้ผลผลิต 197.6, 207.8, 195.4,194.8 และ 200.3 กก./ไร่ สำหรับองค์ประกอบของผลผลิตพบว่า จำนวนฝัก/ต้นให้ผลเช่นเดียวกับผลผลิต ส่วนการตรวจสอบคุณภาพเมล็ดและค่าเปอร์เซ็นต์เชื้อราที่ติดไปกับเมล็ดกำลังอยู่ในระหว่างการวิเคราะห์จากกองโรคพืช