การป้องกันการปนเปื้อนของสารอะฟลาทอกซินในข้าวโพดโดยการรมก๊าซไนโตรเจนรมกองข้าวโพด
วีรวัฒน์ นิลรัตนคุณ วันเพ็ญ ศรีทองเชื้อ อาคม สุ่มมาตย์ บังอร ธารพล อำนาจ ชินเชษฐ์ และ อำนวย ทองดี
รายงานผลการวิจัยประจำปี 2535 ศูนย์วิจัยพืชไร่นครสวรรค์ สถาบันวิจัยพืชไร่ กรมวิชาการเกษตร. หน้า 205-218.
2535
บทคัดย่อ
การศึกษาเพื่อหาอัตราการที่เหมาะสมในการรมก๊าซไนโตรเจน เพื่อป้องกันการเจริญของเชื้อรา และการเกิดสารแอฟลาทอกซินในข้าวโพดที่มีความชื้นสูงเป็นการชั่วคราว ทำการทดลองที่ศูนย์วิจัยพืชไร่นครสวรรค์ ในเดือนกันยายน พ.ศ.2535 โดยกะเทาะฝักข้าวโพดที่เก็บเกี่ยวมาแล้ว 8 วัน และมีความชื้นในเมล็ดเฉลี่ย 26.81 แบ่งเมล็ดออกเป็น 5 กอง กองแรกปล่อยไว้ในสภาพปกติ กองที่เหลือใช้ผืนพลาสติกแต่ละผืนคลุมกองแยกจากกัน แล้วรมด้วยก๊าซ ไนโตรเจนในอัตรา 0.50, 0.75, 1.0 และ 2.0 กิโลกรัม/เมล็ด 1 ตัน นาน 5 วัน ในกองที่ 2, 3, 4 และ 5 ตามลำดับ ผลการทดลองพบว่าข้าวโพดที่กองไว้ในสภาพบรรยากาศปกติ มีเชื้อราเจริญอยู่เกือบทั่วทั้งกอง สามารถมองเห็นสปอร์ของเชื้อราซึ่งมีสีเขียวได้อย่างชัดเจน โดยเฉพาเชื้อรา A.flavus พบมากที่บริเวณผิวกองถึงระดับความลึกประมาณ 15 ซม. เมล็ดมีกลิ่นเหม็นและเริ่มจับตัวกันเป็นก้อน อุณหภูมิเฉลี่ยภายในกองเพิ่มจาก 30 องศาเซลเซียส ชื้นสูงถึง 57.5 องศาเซลเซียส ปริมาณการปนเปื้อนของสารแอฟลาทอกซินเพิ่มขึ้น 48 ppb. ในขณะที่กองข้าวโพดที่รมด้วยก๊าซ N2 ในอัตราต่าง ๆ นั้น พบการเจริญของเชื้อราเพียงเล็กน้อยเฉพาะที่บริเวณผิวกองเป็นบางจุดเท่านั้น เมล็ดที่ผิวกองยังเลื่อนไหลเป็นปกติ และมีสีเหลืองเป็นมัน แต่มีกลิ่นเปรี้ยวเล็กน้อย อุณหภูมิเฉลี่ยภายในกองแต่ละกองเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเพียง 1-2 องศาเซลเซียส และปริมาณการปนเปื้อนของสารแอฟลาทอกซินอยู่ในระดับต่ำเพียง 0.6-2.5 ppb. เท่านั้น