การป้องกันการปนเปื้อนของสารอะฟลาทอกซินในข้าวโพดโดยการรมก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์
วีรวัฒน์ นิลรัตนคุณ วันเพ็ญ ศรีทองชัย อาคม สุ่มมาตย์ เจริญศรี สร้อยทอง และ อำนวย ทองดี
รายงานผลการวิจัยประจำปี 2535 ศูนย์วิจัยพืชไร่นครสวรรค์ สถาบันวิจัยพืชไร่ กรมวิชาการเกษตร. หน้า 219-234.
2535
บทคัดย่อ
การทดลองเพื่อหาอัตราการรมก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เหมาะสม เพื่อป้องกันการเจริญของเชื้อรา และการเกิดสารแอฟลาทอกซินในข้าวโพด ที่มีความชื้นสูงเป็นการชั่วคราว ทำการทดลองที่ศูนย์วิจัยพืชไร่นครสวรรค์ ในเดือนกันยายน พ.ศ.2535 โดยกะเทาะฝักข้าวโพดที่เก็บเกี่ยวมาแล้ว 7 วัน และมีความชื้นในเมล็ดเฉลี่ย 27.1 แบ่งเมล็ดข้าวโพดออกเป็น 5 กอง กองแรกปล่อยไว้ในสภาพบรรยากาศปกติตลอดการทดลองนาน 5 วัน กองที่เหลือปล่อยไว้ในสภาพบรรยากาศปกติ นาน 24 ชั่วโมง แล้วใช้ผืนพลาสติกแต่ละผืนคลุมกองแยกจากกัน แล้วรมด้วยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในอัตรา 0.5, 0.75, 1.0 และ 2.0 กิโลกรัม/เมล็ด 1 ตัน นาน 4 วัน ในกองที่ 2, 3, 4 และ 5 ตามลำดับ ผลการทดลองพบว่าข้าวโพดที่กองไว้ในสภาพบรรยากาศปกติ มีเชื้อราเข้าทำลายเมล็ดข้าวโพดเกือบทั่วทั้งกอง จนสามารถมองเห็นสปอร์ของเชื้อราได้อย่างชัดเจน โดยเฉพาะเชื้อ A.flavus พบมากที่บริเวณผิวกองถึงระดับความลึกประมาณ 15 ซม. เมล็ดเริ่มจับตัวเป็นก้อนและมีกลิ่นเหม็นหืน อุณหภูมิเฉลี่ยภายในกองเพิ่มขึ้นจาก 29.7 องศาเซลเซียสเป็น 53.1 องศาเซลเซียส ปริมาณการปนเปื้อนของสารแอฟลาทอกซินเพิ่มจาก 0.4 ppb. เป็น 16.6 ppb. ในขณะทีกองข้าวโพดที่รมด้วยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ในอัตราต่าง ๆ นั้น พบการเจริญของเชื้อราเพียงเล็กน้อย เฉพาะที่บริเวณผิวกองเป็นบางจุดเท่านั้น เมล็ดที่ผิวกองยังเลื่อนไหลเป็นปกติ และสีของเมล็ดเหลืองเป็นมัน แต่มีกลิ่นเปรี้ยวเล็กน้อย อุณหภูมิเฉลี่ยภายในกองไม่เปลี่ยนแปลง และมีปริมาณการปนเปื้อนของสารแอฟลาทอกซินในระดับต่ำเพียง 2.8 ppb. เท่านั้น