การเก็บรักษาข้าวโพดแบบไร้อากาศเพื่อป้องกันแอฟลาทอกซินในระดับเกษตรกร
ปริศนา สิริอาชา ศุภรัตน์ โฆษิตเจริญกุล อรุณศรี วงษ์อุไร ประวัติ ตันบุญเอก และ สุภาภรณ์ อิสริโยดม
รายงานการวิจัย กลุ่มงานวิจัยโรคพืชผลิตผลเกษตร กองโรคพืชและจุลชีววิทยา กรมวิชาการเกษตร, กรุงเทพฯ.
2536
บทคัดย่อ
ในปี 2533 กลุ่มงานวิจัยโรคพืชผลิตผลเกษตร ร่วมกับศูนย์วิจัยการเกษตรเขตร้อนแห่งประเทศญี่ปุ่น ได้ค้นพบการป้องกันแอฟลาทอกซินในข้าวโพดความชื้นสูง โดยกักเก็บในสภาพไร้อากาศในถุงพลาสติก ชนิด High Density Polyethylene หนา 40 ไมโครมิเตอร์ ในปี 2534-2535 ภายใต้โครงการศูนย์ปรับปรุงคุณภาพข้าวโพด ได้ดำเนินการศึกษาต่อถึงปัจจัยที่มีผลในการยับยั้งเชื้อรา Aspergillus flavus และแอฟลาทอกซิน ตลอดถึงความปลอดภัยในการนำไปใช้ในอาหารสัตว์และนำไปทดลองเลี้ยงไก่ได้ จนประสบความสำเร็จ ในปี 2536 จึงได้นำวิธีการนี้ ไปปรับใช้ในระดับเกษตรกรเลี้ยงไก่พันธุ์พื้นเมืองลูกผสม 3 สายเลือดใช้ข้าวโพด 2 พันธุ์ คือพันธุ์ นครสวรรค์ และซีบาไกกี้ บรรจุข้าวโพด 80 กก. ในถุงพลาสติกชนิด High Density Polyethylene หนา 40 ไมโครมิเตอร์ ทยอยมาตากและบดเลี้ยงสัตว์สัปดาห์ละ 1 ครั้ง แล้วปิดถุงเก็บต่อไป ทำเช่นนี้ 4 สัปดาห์ และครั้งสุดท้าย 4 เดือน นำข้าวโพดไปใช้เลี้ยงไก่ ตั้งแต่อายุ 1 วัน จน 12 สัปดาห์ ผลจากการศึกษาอัตราการเจริญเติบโตของไก่ น้ำหนักตัวการบริโภคอาหาร การใช้ประโยชน์ของอาหาร และประสิทธิภาพของการใช้อาหาร ไก่เจริญได้ปกติเมื่อเปรียบเทียบกับไก่ที่เลี้ยงด้วยข้าวโพดสด และ/หรือ อาหารสำเร็จรูป และเมื่อนำไก่ที่เลี้ยงมาประกอบเป็นอาหารโดย ย่างและทำ Panel test ไม่พบว่ามีความแตกต่างในเรื่องรสชาติและกลิ่น และผู้บริโภคยอมรับได้