บทคัดย่องานวิจัย

ผลของโปแตสเซียมต่อคุณภาพทางกายภาพและเคมีของเมล็ดข้าวขึ้นน้ำและข้าวทนน้ำลึก

จารุวรรณ บางแวก และ ประโยชน์ เจริญธรรม

รายงานผลการวิจัยข้าวขึ้นน้ำ และข้าวทนน้ำลึก ประจำปี 2539 ศูนย์วิจัยข้าวปราจีนบุรี สถาบันวิจัยข้าว กรมวิชาการเกษตร. หน้า 196-197.

2539

บทคัดย่อ

ผลของโปแตสเซียมต่อคุณภาพทางกายภาพและเคมีของเมล็ดข้าวขึ้นน้ำและข้าวทนน้ำลึก

โปแตสเซียม (K) เป็นธาตุหนึ่งที่ช่วยในการปรับปรุงคุณภาพเมล็ด เพราะเชื่อว่า K

จะมีผลในการเพิ่มประสิทธิภาพการสังเคราะห์แสง และการเคลื่อนย้ายอาหารที่พืช

สร้างขึ้น (photosynthate) ไปยังเมล็ด จะทำให้เมล็ดมีขนาดใหญ่ขึ้น และยังพบ

ว่า K ทำให้ผลไม้มีขนาดใหญ่ขึ้นและมีรสชาตดีขึ้น  จากการศึกษาพบว่า การเกิดท้องไข่

ในเมล็ดนั้น เป็นเพราะปริมาณอาหารที่ต้นสร้างขึ้นเคลื่อนย้ายไปยังเมล็ดไม่เพียงพอ

จึงทำให้การเกาะตัวของเม็ดแป้งในเมล็ดเป็นไปอย่างหลวม ๆ เกิดช่องอากาศระหว่าง

เซลแป้งมาก เป็นเหตุให้เมล็ดหักง่าย  ดังนั้น ถ้า K สามารถช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการ

เคลื่อนย้ายอาหารไปสู่เมล็ดมากขึ้นอาจทำให้ความเป็นท้องไข่ในเมล็ดลดลงได้ จึงทำ

การศึกษาอัตราของ K ที่มีผลต่อการเกิดท้องไข่ของข้าวพันธุ์หันตรา 60 โดยทดลอง

ปลูกต้นข้าวในสารละลาย Yoshida อัตราของ K คือ 0, 500, 1000 และ 1500

ppm ในการทดลองที่ 1 และใช้อัตรา 0, 500, 1000 และ 2000 ppm ในการ

ทดลองที่ 2 และ อัตรา 0,  1000,  2000 และ 3000 ppm ในการทดลองที่ 3

ทั้ง 3 การทดลองไม่พบความแตกต่างของความเป็นท้องไข่ในเมล็ดเมื่อใช้สาร K

ที่ระดับต่าง ๆ  จากการวิเคราะห์ปริมาณ K ในสารละลายที่ปลูกต้นข้าวพบว่า

การดูดใช้สารในระยะแรกของการเจริญเติบโตก่อนข้าวออกดอกจะไม่แน่นอน

อาจจะขึ้นอยู่กับความต้องการของต้นข้าว ถ้าต้นข้าวมีธาตุ K ในต้นเพียงพอ

ก็จะไม่ดูดสาร K ขึ้นไปใช้ จนกระทั้งในระยะสร้างเมล็ดต้นข้าวจะดูดธาตุ K

จากสารละลายเพิ่มขึ้นตามความเข้มข้นที่มากขึ้น ถ้าสารสะลายเข้มข้นมาก

ข้าวจะดูด K ขึ้นไปใช้มากกว่าสารละลายที่มีความเข้มข้นของธาตุ K ต่ำ

แสดงว่าต้นข้าวในระยะสร้างเมล็ดมีความต้องการใช้ K ในปริมาณสูงแต่

ไม่มีผลต่อการเกิดท้องไข่ในเมล็ด