วิจัยและพัฒนายุ้งโลหะเก็บรักษาข้าวเปลือก
สุภัทร หนูสวัสดิ์ พิมล วุฒิสินธ์ นิทัศน์ ตั้งพินิจกุล ยงยุทธ คงซ่าน สิริชัย ส่งเสริมพงษ์ วิบูลย์ เทเพนทร์ และ ไมตรี แนวพานิช
การประชุมวิชาการทางวิศวกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน สถาบันวิจัยและพัฒนา นครปฐม. 2537. หน้า 155-170. 171 หน้า.
2537
บทคัดย่อ
· กลุ่มงานวิจัยวิศวกรรมหลังการเก็บเกี่ยว โดยการสนับสนุนทางการเงินจาก IDRC ได้ศึกษาลักษณะการเปลี่ยนแปลงทางเคมีและกายภาพของข้าวเปลือกและข้าวโพด ระหว่างเก็บรักษาในไซโลเหล็กเป็นเวลา 7 และ 6 เดือน ตามลำดับ เพื่อนำข้อมูลพื้นฐานที่ได้มาวิเคราะห์หาสาเหตุของการเสื่อมคุณภาพ และหาแนวทางการปฏิบัติ เพื่อป้องกันการเสื่อมคุณภาพของเมล็ดระหว่างการเก็บรักษาในไซโลเหล็ก
· ในการทดลองได้ใช้ไซโลเหล็กขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 3.0 เมตร สูง 6.0 เมตร จำนวน 3 ไซโล บรรจุข้าวเปลือกได้ไซโลละ 20 ตัน หรือบรรจุข้าวโพดได้ 30 ตัน ไซโลแรกใช้เป็นไซโล Control ไซโลที่สอง มีท่อระบายอากาศทำด้วยตะแกรงกลมเบอร์ 8 มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 0.3 เมตร สูง 6.0 เมตร จำนวน 4 ท่อ ตั้งอยู่บริเวณกึ่งกลางของไซโล และพื้นของไซโลนี้ทำด้วยตะแกรงรูกลมเบอร์ 8 เช่นกัน เพื่อให้อากาศสามารถระบายผ่านกองเมล็ดพืชภายในไซโล และไซโลที่สาม มีลักษณะเช่นเดียวกับไซโล Control แต่บุผนังด้านในทั้งหมดของไซโลด้วยเสื่อไม้ไผ่ เพื่อป้องกันความร้อนจากแสงอาทิตย์ถ่ายเทจากผนังของไซโลไปยังเมล็ดพืช ไซโลทั้งสามนี้ติดตั้งหัววัดอุณหภูมิของกองเมล็ดพืช และช่องสำหรับเก็บตัวอย่างตามจุดต่าง ๆ ภายในไซโล 35 จุด/ไซโล เพื่อตรวจบันทึกการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิอุณหภูมิและความชื้นระหว่างการเก็บรักษา
· ผลการวิเคราะห์ตัวอย่างข้าวเปลือกและข้าวโพดที่สุ่มมาทุกเดือน และข้อมูลการเปลี่ยนแปลงของ อุณหภูมิเมล็ดพืชในไซโล พบว่า สาเหตุของการเสื่อมคุณภาพของเมล็ดระหว่างเก็บรักษาในไซโล เกิดจากการหายใจของเมล็ดและแมลง ซึ่งในขบวนการหายใจจะเกิดการคายความร้อนและความชื้นจากเมล็ดและแมลง สู่บรรยากาศภายในกองเมล็ด ทำให้อุณหภูมิบริเวณกึ่งกลางของไซโลสูงกว่าอุณหภูมิที่ผัง 5-10 องศาเซลเซียส อากาศร้อนชื้นจะลอยตัวขึ้น จึงทำให้เกิดการหมุนเวียนของบรรยากาศภายในไซโล และอาจเกิดการควบแน่นเป็นหยดน้ำที่ผนังซึ่งเย็นกว่า จากข้อมูลการเปลี่ยนแปลงความชื้นเมล็ดยืนยันสมมติฐานนี้ โดยความชื้นข้าวเปลือกบริเวณริมผนังไซโลเริ่มสูงขึ้นหลังการเก็บรักษาเป็นเวลา 5 เดือน และข้าวโพดเป็นเวลา 3 เดือน ข้าวเปลือกตัวอย่างถึงแม้ว่าจะยังอยู่ในสภาพดีหลังการเก็บรักษาเป็นเวลานาน 7 เดือน แต่ลักษณะของความชื้นเมล็ดที่เริ่มสูงขึ้น หลังการเก็บรักษานาน 5 เดือน จึงไม่ควรเก็บข้าวเปลือกนานกว่า 4 เดือน ในกรณีของข้าวโพดไม่ควรเก็บนานเกิน 3 เดือน เพราะจะเกิดเน่าเสียตามบริเวณรอบ ๆ ผนังด้านในของไซโล ผลการทดลองนี้ทำให้ทราบแนวทางการใช้ไซโลเหล็กเก็บรักษาเมล็ดพืชให้ปลอดภัยจากการเสื่อมคุณภาพ โดยภายในไซโลจำเป็นจะต้องมีการติดตั้งหัววัดอุณหภูมิบรรยากาศในไซโลและระบบระบายอากาศที่ เหมาะสม