วิจัยปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการพัฒนาการใช้เครื่องนวดข้าวเพื่อใช้เกี่ยวนวดถั่วเหลือง
สาทิส เวณุจันทร์ จารุวัฒน์ มงคลธนทรรศ สมโภชน์ สำราญ และสังวร สังกะ
รายงานการวิจัย กลุ่มงานทดสอบและพัฒนาเครื่องจักรกลเกษตร กองเกษตรวิศวกรรม กรมวิชาการเกษตร, กระทรวงเกษตรและสหกรณ์, กรุงเทพฯ.
2536
บทคัดย่อ
· จากการสำรวจการผลิตและเก็บเกี่ยวถั่วเหลืองในเขตจังหวัดสระแก้ว ปราจีนบุรี ลพบุรี ชัยนาท นครสวรรค์ พิษณุโลก อุทัยธานี และเชียงใหม่ พบว่าการเก็บเกี่ยวถั่วเหลืองส่วนใหญ่ยังใช้แรงงานคนและใช้เครื่องนวดถั่วเหลือง อัตราค่าจ้างเกี่ยวถั่วเหลือง 200-280 บาทต่อไร่ อัตราค่าจ้างนวดถั่วเหลือง 40-70 บาทต่อกระสอบ (110-120 กิโลกรัมต่อกระสอบ) ในปี พ.ศ. 2538 พบว่าจังหวัดพิษณุโลกมีการใช้เครื่องเกี่ยวนวดข้าวนำมาใช้รับจ้างถั่วเหลืองราคา 60 บาทต่อกระสอบ และในเขตจังหวัดนครสวรรค์และพิษณุโลก มีการใช้เครื่องเกี่ยวนวดข้าวนำมาใช้เกี่ยวนวดถั่วเหลืองอัตราค่าจ้าง 400 บาทต่อไร่ อัตราการทำงาน 2-3 ไร่ต่อชั่วโมง การสูญเสียรวมต่ำกว่า 2% เกษตรกรส่วนใหญ่พอใจกับการใช้เครื่องเกี่ยวนวดข้าวที่นำมาใช้เกี่ยวนวด ถั่วเหลือง จากการทดสอบประสิทธิภาพการทำงานของเครื่องกล่าวคือ ขนาดของแปลงจุมีผลต่อประสิทธิภาพการทำงานในพื้นที่ (Field Efficiency) ปัญหาที่สำคัญคือ ร่องน้ำในแปลงทำให้เกิดการสูญเสียสูง เนื่องจากเกี่ยวไม่หมดหรือถั่วเหลืองที่ได้จะมีดินเจือปนด้วย ส่วนแปลงถั่วเหลืองที่มีวัชพืชมากจะมีผลทำให้เมล็ดที่ได้หลังจากเกี่ยวนวดแล้วมีสีดำส่งผลให้เกษตรกรขายผลิตผลได้ราคาต่ำ บางครั้งวัชพืชติดขัดในระบบการนวดทำให้เครื่องเกี่ยวนวดไม่สามารถทำงานต่อไปได้ปัญหาที่พบอีกประการหนึ่งคือพันธุ์ของถั่วเหลือง จากการทดสอบในแปลงของเกาตรกรพบว่าพันธุ์ของถั่วเหลืองที่เกษตรกรปลูกมีหลายพันธุ์ปะปนกันทำให้ความสูงของต้น ความสูงของฝักจากระดับพื้นดินและความสมบูรณ์ของเมล็ดไม่สม่ำเสมอ อย่างไรก็ตามความชำนาญของคนขับและขนาดของเครื่องก็มีผลต่อประสิทธิภาพการทำงานของเครื่องเช่นเดียวกัน ดังนั้นจึงได้ดำเนินการทดสอบเครื่องเกี่ยวนวดถั่วเหลืองขนาดเล็กเพื่อเป็นทางเลือกในการพิจารณาการใช้เครื่องเกี่ยวนวดถั่วเหลือง ผลการทดสอบพบว่าความสามารถในการทำงานและประสิทธิภาพการทำงานอื่น ๆ ต่ำกว่าเครือ่งเกี่ยวนวดข้าวที่มีใช้กันอยู่เล็กน้อย แต่การใช้งานเช่นการบังคับเลี้ยวเปลี่ยนทิศทางหรือกลับหัวงานมีความสะดวกและคล่องตัวกว่าแบบเดิม ้