บทคัดย่องานวิจัย

การออกแบบระบบคัดแยกเมล็ดในและเปลือกของเมล็ดมะม่วงหิมพานต์ภายหลังการกะเทาะ

อรรถพล อดุลย์ฐานานุศักดิ์ และ ชัยเยาว์ ตระกูลมหชัย

โครงงานวิศวกรรมเกษตร (วศ.บ. (วิศวกรรมเกษตร)) มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, 2531. 41 หน้า.

2531

บทคัดย่อ

การออกแบบระบบคัดแยกเมล็ดในและเปลือกของเมล็ดมะม่วงหิมพานต์ภายหลังการกะเทาะ

·  ในการคัดแยกเมล็ดในและเปลือกของเมล็ดมะม่วงหิมพานต์ออกจากกัน ก่อน
อื่นต้องมีการกระเทาะก่อนโดยเครื่องกระเทาะเมล็ดมะม่วงหิมพานต์แบบแรงเหวี่ยง
ซึ่งประกอบด้วยจานหมุนอยู่ภายในถัง ในจานหมุนประกอบด้วยช่องเหวี่ยง 8 ช่อง
เมล็ดมะม่วงหิมพานต์จะตกจากช่องป้อนผ่านช่องเหวี่ยงเหล่านี้แล้วหลุดออกไปกระแทก
กับผนังด้านในของถัง ซึ่งออกแบบพิเศษเพื่อลดการลื่นไถลลง ขนาดของเมล็ดมะม่วง-
หิมพานต์ทำการคัดแยกด้านแผ่นตะแกรงได้เป็น 2 ขนาด ซึ่งมีน้ำหนักเฉลี่ย 5.9 กรัม
ต่อเมล็ด และ 5.42 กรัมต่อเมล็ด เมล็ดมะม่วงหิมพานต์ต้องผ่านการเพิ่มความชื้น
และต้มในน้ำมันเพื่อปรับความชื้นให้เหมาะสมก่อนนำไปกระเทาะ ความเร็วรอบของ
จานเหวี่ยงสำหรับการทดลองนี้จะใช้ระดับเดียวคือ 680 รอบต่อนาที ผลการทดลอง
ต้องการที่จะคัดแยกเมล็ดในกับเปลือกออกจากกัน โดยการแยกด้วยตะแกรง 3 ขนาด
คือ 1.4 ซ.ม x 2.7 ซ.ม, 1.2 ซ.ม x 2.3 ซ.ม, 1.0 ซ.ม x 2.0 ซ.ม
แล้วคิดเป็นเปอร์เซนต์การตกค้างบนตะแกรงขนาดดังกล่าวโดยแบ่งเป็นการตกค้างของ
เมล็ดเมล็ดในเต็ม, เมล็ดครึ่งซีก, และการตกค้างของเปลือก จากนั้นก็นำไปคัดแยก
โดยการเป่าด้วยลม ซึ่งได้เปอร์เซนต์การคัดแยกไม่ต่ำกว่า 82.8% ที่ความเร็วไม่
น้อยหรือเท่ากับ 20 เมตรต่อนาที หรืออัตราการไหลเท่ากับ 0.076 ลูกบาศก์เมตรต่อ
วินาที สำหรับการแยกเปลือกออกจากเมล็ดใน