บทคัดย่องานวิจัย

การออกแบบ และทดสอบเครื่องคัดแยกความหนาแน่นของผลไม้

น้ำเพ็ญ เปมะวิภาต และ บุญชัย ธารพานิช

โครงงานวิศวกรรมเกษตร (วศ.บ. (วิศวกรรมเกษตร)) มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, 2540. 54 หน้า.

2540

บทคัดย่อ

การออกแบบ และทดสอบเครื่องคัดแยกความหนาแน่นของผลไม้

·  เครื่องคัดแยกความหนาแน่นของผลไม้ถูกออกแบบและสร้างขึ้นโดยมีส่วนประกอบหลักคือ ถังคัดแยก (separating bin), ชุดลำเลียงและมอเตอร์ขับ (conveying set and driving motro), ชุดป้อน (loader), ตะแกรง (sieve), โครง (frame) และถาดรับผลไม้ (recieving tray) ทั้งนี้ใช้น้ำเกลือเป็นสารตัวกลางในการคัดแยก

·  เครื่องคัดแยกความหนาแน่นของผลไม้นี้ สามารถใช้ในการคัดแยกผลไม้ที่มีลักษณะต่าง ๆ เช่น ความแก่อ่อนของมะม่วงพันธุ์น้ำดอกไม้, มังคุดเนื้อแก้วกับเนื้อปกติ, แอปเปิ้ลไส้ฉ่ำน้ำ เป็นต้น ได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ในการคัดแยก ซึ่งในการทดสอบเครื่องนี้จะทำการคัดแยกความแก่อ่อนของมะม่วงพันธุ์น้ำดอกไม้ โดยผลที่มีความถ่วงจำเพาะมากกว่า 1.03 จัดเป็นผลแก่ และผลที่มีความถ่วงจำเพาะน้อยกว่า 1.03 จัดเป็นผลอ่อน (สายชล, 2530) ดังนั้นจึงใช้น้ำเกลือที่มีความถ่วงจำเพาะ 1.03 นั่นคือน้ำเกลือมีความเข้มข้น 30 กรัมต่อลิตร เป็นสารตัวกลางในการคัดแยก ซึ่งผลมะม่วงที่จัดว่าเป็นมะม่วงแก่จะจม และผลมะม่วงที่จัดเป็นมะม่วงอ่อนจะลอยในน้ำเกลือความเข้มข้นนี้

·  การใช้งานเครื่องสำหรับคัดแยกผลแก่กับผลอ่อนของมะม่วงพันธุ์น้ำดอกไม้ควรความเร็วเชิงเส้น ของสายพานของชุดลำเลียงผลอ่อน 0.18 เมตรต่อวินาที และความเร็วเชิงเส้นของสายพานของชุดลำเลียงผลแก่ 0.12 เมตรต่อวินาที ซึ่งจะให้ประสิทธิภาพการคัดแยก คือ สามารถคัดแยกมะม่วงผลอ่อนได้ 68.04% และคัดแยกมะม่วงผลแก่ได้ 79.19% และอัตราการแยกเฉลี่ยของชุดลำเลียงแต่ละชุดคือ ชุดลำเลียงผลอ่อนแยกได้ 99.41 กิโลกรัมต่อชั่วโมง และชุดลำเลียงผลแก่แยกได้ 223.25 กิโลกรัมต่อชั่วโมง