การพัฒนาตู้ลดอุณหภูมิผักและผลไม้
วัชร อินทโกสุม และ อภิชาติ รัตถานู
รายงานการวิจัย ภาควิชาเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยวและแปรสภาพ คณะวิศวกรรมและเทคโนโลยีการเกษตร สถาบัน เทคโนโลยีราชมงคล
2537
บทคัดย่อ
· ตู้ลดอุณหภูมินี้ได้พัฒนามาจากตู้ลดอุณหภูมิ ซึ่งมีระบบ Forced-air cooling เพียงระบบเดียวของอุทัยและอุทัย (2536) โดยเพิ่มระบบ Hydrocooling เข้าไป แต่ยังคงอาศัยน้ำแข็งเป็นต้นกำเนิดความเย็น อุณหภูมิของลมเย็นภายในตู้อยู่ในช่วง 7-12 องศาเซลเซียส และมีความชื้นสัมพัทธ์ 85 ถึง 90 เปอร์เซนต์ ในระบบ Forced-air cooling ลมเย็นจะไหลผ่านผลิตผลที่นำมาลดอุณหภูมิด้วยความเร็ว 3.74 เมตร/วินาที สำหรับระบบ Hydrocooling ที่พัฒนาขึ้นมา น้ำเย็นจะมีอุณหภูมิ เฉลี่ย 16 องศาเซลเซียส และมีอัตราการไหล 14 ลิตรต่อนาที โดยมีปั๊มหอยโข่งขนาด 0.5 Hp เป็นตัวส่งจ่ายน้ำเย็นให้แก่ระบบส่วนความชื้นสัมพัทธ์ภายในตู้ของระบบ Hydrocooling จะอยู่ในช่วง 35 - 45 เปอร์เซนต์
· การทดสอบความสามารถในการลดอุณหภูมิของตู้นี้ กระทำโดยการหา cooling rate และ half-cooling time ของผักและผลไม้ 3 ชนิดคือ ส้มเขียวหวาน, ฝรั่ง และมะเขือเทศ จากการทดสอบพบว่าผลเฉลี่ยของ cooling rate และ half-cooling time ของส้มเขียวหวานในระบบ Forced-air cooling มีค่าเท่ากับ 0.02 ต่อนาทีและ 28.31 นาที ตามลำดับ ส่วนในระบบ Hydrocooling มีค่าเท่ากับ 0.06 ต่อนาทีและ 26.12 นาที ตามลำดับ สำหรับฝรั่งของระบบ Forced-air cooling มีค่าเท่ากับ 0.01 ต่อนาทีและ 43.36 นาที ตามลำดับและของระบบ Hydrocooling มีค่าเท่ากับ 0.10 ต่อนาที และ 9.06 นาที ตามลำดับ ผลมะเขือเทศของระบบ Forced-air cooling มีค่าเท่ากับ 0.02 ต่อนาที และ 24.71 นาที ตามลำดับ ระบบ Hydrocooling มีค่า เท่ากับ 0.19 ต่อนาที และ 4.29 นาที ตามลำดับ
· ผลการทดลองของผักและผลไม้ทั้ง 3 ชนิด จะเห็นได้ว่าในระบบ Hydrocooling ใช้เวลาในการลดอุณหภูมิสั้นกว่าระบบ Forced-air cooling โดยมะเขือเทศมี cooling rate สูงสุดและใช้ half-cooling time ต่ำสุด รองลงมาคือ ฝรั่ง และส้มเขียวหวานตามลำดับ