บทคัดย่องานวิจัย

ศึกษาการวัดความแก่ของทุเรียนโดยคลื่นเสียง

ชูศักดิ์ ชวประดิษฐ์ ศิวลักษณ์ ปฐวีรัตน์ เวียง อากรชี ยงยุทธ คงซ่าน และสุภัทร หนูสวัสดิ์

รายงานการวิจัย กลุ่มงานวิจัยวิศวกรรมผลิตพืช กองเกษตรวิศวกรรม กรมวิชาการเกษตร, กระทรวงเกษตรและสหกรณ์, กรุงเทพฯ.

2539

บทคัดย่อ

ศึกษาการวัดความแก่ของทุเรียนโดยคลื่นเสียง

·  ทุเรียน เป็นพืชเศรษฐกิจพืชหนึ่งของประเทศมีการผลิตและการส่งออกในรูปผลทุเรียนสดเป็นมูลค่าสูง ทุเรียนเพื่อการส่งออกตลอดจนเพื่อการบริโภคภายในประเทศมีปัญหาในด้านคุณภาพต่ำ (ทุเรียนอ่อน) โดยเกิดจากกลไกการตลาดและราคาทำให้มีเกษตรกรขายทุเรียนอ่อน นอกจากนี้เกษตรกร ผู้รวบรวมท้องถิ่นและคนตัดทุเรียนส่วนหนึ่งไม่ทราบข้อพิจารณาในการเลือกเก็บเกี่ยวทุเรียนให้ถูกต้อง ทั้งนี้เพราะในทางปฏิบัติต้องอาศัยประสบการณ์ และความชำนาญมาก จึงจะดำเนินการเก็บเกี่ยวทุเรียนได้ถูกต้อง จึงมีความจำเป็นในการศึกษาวิจัยเพื่อพัฒนาเครื่องตรวจสอบคุณภาพทุเรียน โดยทำการศึกษาวิจัยความเป็นไปได้ในความวัดความสุกแก่ของทุเรียน โดยใช้คลื่นเสียง (sonic response technique)

·  คลื่นเสียงที่ได้จากการเคาะทุเรียนที่ความสุกแก่ต่าง ๆ กันด้วยเครื่องมือเคาะและเก็บสัญญาณที่ได้ทำการออกแบบประดิษฐ์ เพื่อการศึกษาวัดความสุกแก่ของทุเรียน เมื่อนำมาวิเคราะห์ค่าวิเคราะห์ความถี่ธรรมชาติ power spectrum และ power sprectrum density โดยใช้ Fast Fourier transform พบว่าค่าของ parameter ที่ได้จาการเคาะทุเรียนที่มีความสุกแก่ต่าง ๆ มีค่าแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ ความสัมพันธ์ระหว่างดัชนีความสุกแก่ต่าง ๆ ของทุเรียนหมอนทอง เช่น สีเปลือก ความห่างของหนามและค่า sensory test ต่าง ๆ กับ sonic response parameters มีค่า R2 ระหว่าง 0.75 ถึง 0.83

·  การวัดความสุกแก่ของทุเรียน โดยใช้คลื่นเสียงมีความเป็นไปได้สูงโดยต้องมีการดำเนินการปรับปรุงเครื่องมือ เน้นหนักที่ความแน่นอนในการเคาะ การขยายและกรองสัญญาณเสียงเคาะความแม่นยำและความสามารถในการวัดซ้ำ ตลอดจนความไวในการสนองของตัวแปรที่ได้จากการเคาะ