ตัวชี้วัดการคัดเลือกมะม่วงแก้วเพื่ออุตสาหกรรม
ธวัชชัย รัตน์ชเลศ, พฤกษ์ ยิบมันตะสิริ, รุ่งทิพย์ อุทุมพันธ์, และ ปฐมา เดชะ
วารสารวิทยาศาสตร์เกษตร ปีที่ 33 ฉบับที่ 4-5 (พิเศษ): 63-66 (2545)
2545
บทคัดย่อ
มะม่วงแก้วเป็นมะม่วงอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญมากที่สุดในประเทศไทย เอกสารฉบับนี้มีเป้าหมายที่จะเสนอตัวชี้วัดการคัดเลือกที่ใช้ในการปรับปรุงพันธุ์มะม่วงแก้วเพื่อการแปรรูป โดยมีกรอบคิดอยู่ที่ สามารถตอบสนองต่อความต้องการของทั้งผู้ประกอบการแปรรูปและเกษตรกรผู้ผลิตไปพร้อมกัน ดังนั้นกรณีการคัดเลือกมะม่วงแก้วพันธุ์ดีสำหรับภาคเหนือตอนบน ที่มาของตัวชี้วัดจึงเกิดจากการมีส่วนร่วมของกลุ่มบุคคล 3 ฝ่าย ได้แก่ ก) ผู้แปรรูปมะม่วงแก้วเชิงอุตสาหกรรม ข) เครือข่ายเกษตรกรผู้ปลูกมะม่วงแก้วภาคเหนือตอนบน และ ค) นักวิจัยหลายสาขา ตัวชี้วัดการคัดเลือกที่พัฒนาขึ้นมา ครอบคลุม 3 ประเด็นหลัก ได้แก่ การปรับตัว ผลิตภาพ และคุณภาพผล มีรายละเอียดทั้งสิ้นรวม 25 รายการ โดยจำนวนตัวชี้วัดที่น่าสนใจอยู่ในส่วนคุณภาพผลมากที่สุด เช่น ในผลแก่จัด ผิวผลสีเขียวเข้มสดใสและสม่ำเสมอ ผลมีขนาดสม่ำเสมอ เปลือกและเนื้อหนา เมล็ดลีบ เนื้อผลสุกสีเหลืองส้มสดใส ความแน่นเนื้อสูง มีเสี้ยนน้อย ความหวานสูง กรดสูง คุณค่าทางโภชนาการสูง โดยยังคงพยายามรักษาคุณสมบัติเพื่อการบริโภคผลสดไว้เท่าที่จำเป็น เนื่องจากเป็นเป้าหมายหลักของเกษตรกรผู้ผลิต