บทคัดย่องานวิจัย

การยืดอายุการเก็บเกี่ยวมะม่วงแก้วในภาคเหนือตอนบน 1. การใช้จิบเบอเรลลิน

เบ็ญจวรรณ ชุติชูเดช และ ธวัชชัย รัตน์ชเลศ

วารสารวิทยาศาสตร์เกษตร ปีที่ 33 ฉบับที่ 4-5 (พิเศษ) : 75-78 (2545)

2545

บทคัดย่อ

การยืดอายุการเก็บเกี่ยวมะม่วงแก้วในภาคเหนือตอนบน 1. การใช้จิบเบอเรลลิน มะม่วงแก้วในภาคเหนือตอนบนสามารถเก็บผลได้ตั้งแต่ต้นพฤษภาคมจนถึงปลายมิถุนายน มะม่วงแก้วที่เก็บเกี่ยวล่าฤดูจะมีมูลค่าสูงกว่าต้นฤดู ดังนั้นการยืดอายุเก็บเกี่ยวมะม่วงแก้วในที่ดอนอาศัยน้ำฝนจึงเป็นทางเลือกเพื่อเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกรจากการจำหน่ายผลเพื่อการบริโภคสด การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อทดสอบผลของจิบเบอเรลลินต่อการชะลอการแก่ของผลมะม่วงแก้ว โดยจัดสิ่งทดลองแบบ Factorial in Completely Randomize Design ประกอบด้วย 2 ปัจจัยคือ การให้จิบเบอเรลลิน (GA3) ความเข้มข้น 5 ระดับ 0, 50, 100, 150 และ 200 ppm ร่วมกับจำนวนครั้งในการให้สาร มี 2 ระดับคือ 1 และ 2 ครั้ง โดยพ่นช่อผลอายุ 80 วันหลังดอกบานเต็มที่ของต้นมะม่วงแก้วอายุ 12 ปี ทำ 3 ซ้ำ ให้ 1 ต้นเป็น 1 ซ้ำ ระหว่างมีนาคม-พฤษภาคม 2544 บนพื้นที่เกษตรกร ในเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมโครงการป่าจอมทอง กิ่ง อ.ดอยหล่อ จ.เชียงใหม่ ผลการทดลองพบว่าระดับความเข้มข้นและจำนวนครั้งในการให้ GA3 ไม่มีผลต่อการยืดอายุการเก็บเกี่ยว แต่จำนวนครั้งในการให้ GA3 มีผลต่อเปอร์เซ็นต์เนื้อ โดยกลุ่มที่ได้รับ 2 ครั้งมีเปอร์เซ็นต์เนื้อ (76%) มากกว่ากลุ่มที่ได้รับ 1 ครั้ง (74.4%) ในขณะที่ระดับความเข้มข้นของสารมีผลต่อสีเนื้อ โดยกลุ่มที่ได้รับ GA3 200 ppm มีสีเนื้อเขียวเข้มกว่ากลุ่มอื่น ๆ ส่วนน้ำหนักของผลและเมล็ด ความแน่นเนื้อ ปริมาณน้ำตาลที่ละลายน้ำได้ (soluble solids) และปริมาณกรดที่ไทเทรตได้ (titratable acidity) ของผลมะม่วงในทุกกลุ่มไม่มีความแตกต่างกันทางสถิติดังนั้นระยะที่เหมาะสมสำหรับการใช้GA3ควรที่จะได้รับการพิจารณาศึกษาต่อไป