ผลของสภาพควบคุมบรรยากาศต่อคุณภาพการเก็บรักษามะม่วงพันธุ์มหาชนก
อภิตา บุญศิริ, เจริญ ขุนพรม, สมนึก ทองบ่อ, ยุพิน อ่อนศิริ, ธีรนุต ร่มโพธิ์ภักดิ์ และ พิษณุ บุญศิริ
วารสารวิทยาศาสตร์เกษตร ปีที่ 33 ฉบับที่ 4-5 (พิเศษ) : 263-266 (2545)
2545
บทคัดย่อ
การเก็บรักษาผลมะม่วงพันธุ์มหาชนกอายุเก็บเกี่ยว 111 วันหลังดอกบาน จากสวนทิวทอง อำเภอเมือง จังหวัดราชบุรี ที่อุณหภูมิ 10 องศาเซลเซียส ในสภาพบรรยากาศปกติ และบรรยากาศควบคุมที่มี ก๊าซออกซิเจน 10 เปอร์เซ็นต์, ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 10 และ 15 เปอร์เซ็นต์, ก๊าซออกซิเจน 10 เปอร์เซ็นต์ ร่วมกับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 10 หรือ 15 เปอร์เซ็นต์ เป็นเวลา 4 สัปดาห์ พบว่า ผลมะม่วงที่เก็บรักษาเป็นเวลานาน 3 และ 4 สัปดาห์ มีการสุกหลังจากวางไว้ที่อุณหภูมิห้องเป็นเวลา 2-4 และ 2-3 วัน ตามลำดับการเก็บรักษาผลมะม่วงในสภาพบรรยากาศปกติ และออกซิเจน 10 เปอร์เซ็นต์ สามารถยืดอายุการเก็บรักษาได้ 3 สัปดาห์ ขณะที่ผลมะม่วงที่เก็บรักษาในสภาพควบคุมบรรยากาศที่มีก๊าซออกซิเจน 10 เปอร์เซ็นต์ ร่วมกับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 10 หรือ 15 เปอร์เซ็นต์ ให้ผลไม่แตกต่างกัน โดยสามารถเก็บรักษาได้นาน 4 สัปดาห์ เปลือกผลเปลี่ยนจากสีเขียวไปเป็นเหลืองน้อยกว่าผลที่เก็บรักษาในสภาพบรรยากาศปกติและก๊าซออกซิเจน 10 เปอร์เซ็นต์ หลังจากวางผลมะม่วงไว้ให้สุกที่อุณหภูมิห้องเป็นเวลา 2 - 3 หรือ 4 วัน ผลมีการสุกตามปกติ และไม่พบความแตกต่างของปริมาณกรดที่ไทเทรตได้, ปริมาณของแข็งที่ละลายน้ำได้, อัตราส่วนของปริมาณของแข็งที่ละลายน้ำได้ต่อปริมาณกรดที่ไทเทรตได้ และปริมาณวิตามินซี ยกเว้น ผลมะม่วงที่เก็บรักษาในสภาพที่มีก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ความเข้มข้นสูง 10 และ 15 เปอร์เซ็นต์ ที่พบปริมาณกรดที่ไทเทรตได้สูงกว่า, ปริมาณของแข็งที่ละลายน้ำได้ และอัตราส่วนของปริมาณของแข็งที่ละลายน้ำได้ต่อปริมาณกรดที่ไทเทรตได้สูงกว่าทรีตเมนต์อื่น ๆอย่างไรก็ตาม การเก็บรักษาในสภาพที่มีก๊าซคาร์บอน-ไดออกไซด์ความเข้มข้นสูง 10 และ 15 เปอร์เซ็นต์ ไม่สามารถยืดอายุการเก็บรักษาได้ โดยในสัปดาห์ที่ 3 ของการเก็บรักษา พบอาการเปลือกผลไหม้สีเขียวเทาเข้มมีกลิ่นและรสชาติผิดปกติเกิดขึ้น