บทคัดย่องานวิจัย

ผลของอายุการเก็บเกี่ยวและการปฏิบัติหลังการเก็บเกี่ยวต่อคุณภาพของผลละมุด

วรรยา สุธรรมชัยและจริงแท้ ศิริพานิช

การประชุมวิชาการพืชสวนแห่งชาติ ครั้งที่ 3 , 22-25 เมษายน 2546 ณ โรงแรมมิราเคิลแกรนด์ กรุงเทพมหานคร.กำหนดการประชุมและบทคัดย่อ. หน้า 87

2546

บทคัดย่อ

ผลของอายุการเก็บเกี่ยวและการปฏิบัติหลังการเก็บเกี่ยวต่อคุณภาพของผลละมุด การศึกษาผลของอายุการเก็บเกี่ยวและการปฏิบัติหลังการเก็บเกี่ยวต่อคุณภาพของผลละมุดของเกษตรกรในอำเภอดำเนินสะดวก จังหวัดราชบุรี โดยศึกษาวิธีการเก็บเกี่ยวและการสร้างผลละมุด พบว่าการเก็บเกี่ยวผลละมุดโดยเกษตรกรตามปกติทำให้มีปริมาณผลช้ำถึง 54% ส่วนการล้างผลละมุดโดยใช้เครื่องทำให้มีปริมาณผลช้ำเพิ่มขึ้นเป็น 65% การศึกษาแต่ละขั้นตอนตั้งแต่การล้างผลโดยใช้เครื่อง การย้อมสี การคัดขนาด การบรรจุและการขนส่ง พบว่า แต่ละขั้นตอนทำให้ผลละมุดเกิดความเสียหายเพิ่มขึ้นขั้นตอนละประมาณ 5% ส่วนการศึกษาอายุเก็บเกี่ยวของผลละมุด 3 ระยะ คือ ระยะผลสีเขียวปนน้ำตาล สีกระดังงา และสีน้ำตาล พบว่า สีน้ำตาลที่ผ่านขั้นตอนการปฏิบัติต่าง ๆ มีปริมาณผลช้ำและเกิดการช้ำทั้งภายนอกและภายในมากกว่าผลละมุดสีกระดังงาและสีเขียวปนน้ำตาล อย่างไรก็ตามในด้านคุณภาพการรับประทานพบว่า ผู้ชิมชอบผลสีน้ำตาลและสีกระดังงามากกว่าผลสีเขียวปนน้ำตาลเพราะมีรสชาติหวานกว่าและฝาดน้อยกว่า นอกจากนี้ยังทำการศึกษาผลของการย้อมสีที่มีต่อคุณภาพหลังการเก็บเกี่ยวของผลละมุดพันธุ์มะกอกและพันธุ์กระสวย ใน 3 อายุเก็บเกี่ยวพบว่า การย้อมสีไม่สามารถทำให้ผลละมุดทั้ง 2 พันธุ์มีคุณภาพดีกว่าละมุดที่ไม่ย้อมสี เพียงแต่ทำให้ผลมีสีสวยขึ้นเท่านั้น ผลละมุดที่ย้อมสียังคงมีความแน่นเนื้อและมีการสูญเสียน้ำหนักไม่แตกต่างจากผลละมุดที่ไม่ย้อมสีอีกทั้งยังเกิดการช้ำมากกว่าด้วย นอกจานี้สีที่เกษตรกรใช้ย้อมเป็นสีสำหรับย้อมผ้าซึ่งอาจเป็นอันตราต่อผู้บริโภคจึงนำสารเคลือบผิวชนิดต่างๆ ได้แก่ Sta-Fresh 7055 Sta-Fresh 360 อัตราส่วนสารเคลือบผิวต่อน้ำ 1:61:71:8 และไคโตซาน 0.5 1.0 และ1.5% มาเคลือบผิวทดแทนสีย้อม พบว่าไม่มีสารเคลือบผิวชนิดที่สารมารถนำมาใช้ทดแทนสีย้อมได้ ผลละมุดที่เคลือบผิวเกิดอาการช้ำใกล้เคียงกับผลที่ย้อมสีแต่ผลละมุดที่ย้อมสีเป็นที่พอใจของผู้ประเมินมากกว่าผลละมุดที่เคลือบผิวด้วยสารอื่น ๆ และผลที่ไม่เคลือบผิว