บทคัดย่องานวิจัย

จุลกายวิภาคและองค์ประกอบทางเคมีของเปลือกผลลำไยปกติและที่เกิดอาการสะท้านหนาว

สมคิด ใจตรง

วิทยาศาสตรดุษฎีบัณฑิต (วิทยาการหลังการเก็บเกี่ยว), สถานวิทยาการหลังการเก็บเกี่ยว มหาวิทยาลัยเชียงใหม่. 118 หน้า. 2550.

2550

บทคัดย่อ

จุลกายวิภาคและองค์ประกอบทางเคมีของเปลือกผลลำไยปกติและที่เกิดอาการสะท้านหนาว

ผลการศึกษาจุลกายวิภาคของเปลือกผลลำไยพันธุ์ดอและเบี้ยวเขียวด้วยกล้องจุลทรรศน์ สเตอริโอ (stereomicroscope) กล้อง light microscope (LM)กล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอนชนิดส่องกราด (scanning electron microscope; SEM) และกล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอนชนิดลำแสงส่องผ่าน (transmission electron microscope; TEM) พบว่าที่ผิวด้านนอกของเปลือกผลลำไยมีรูเปิดธรรมชาติ ซึ่งมีลักษณะเป็นรอยแตกทั่วผิวผล มีคิวติเคิลบางๆ ปกคลุมอย่างไม่ต่อเนื่องมีไตร-โคม (trichomes) และสโตมาตา (stomata) กระจายอยู่บนผิวเปลือก เมื่อตัดเปลือกผลลำไยตามขวางและศึกษาภายใต้กล้อง LM, SEM และ TEM พบว่าความหนาของเปลือกผลลำไยพันธุ์ดอ และพันธุ์เบี้ยวเขียว คือ 518-644 ไมโครเมตร (เฉลี่ย 575 ไมโครเมตร) และ 476-630ไมโครเมตร (เฉลี่ย 552 ไมโครเมตร) ตามลำดับ เปลือกของผลลำไยทั้งสองพันธุ์มีโครงสร้างคล้ายกัน สามารถแบ่งตามรูปร่างและการจัดเรียงตัวของเซลล์ได้เป็น 3 ชั้น คือ ชั้นนอก (exocarp)ชั้นกลาง (mesocarp) ซึ่งมีความหนาประมาณ 70% ของความหนาทั้งเปลือก และชั้นใน (endocarp)ขณะที่ผิวด้านในของเปลือกผลลำไยมีลักษณะเป็นคลื่นเล็กน้อยเมื่อดูภายใต้กล้อง SEM ผลลำไยพันธุ์ดอและเบี้ยวเขียวระหว่างเก็บรักษาที่อุณหภูมิ 5องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 95% เริ่มแสดงอาการสะท้านหนาวเมื่อเก็บรักษานาน 6 วัน และมีอาการรุนแรงเมื่อเก็บรักษาเป็นเวลา 10 และ 14 วัน ตามลำดับ ลักษณะจุลกายวิภาคของเปลือกผลลำไยที่แสดงอาการสะท้านหนาว คือ คิวติเคิล แตกออกเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย ผิวไตรโคมเกิดการหลุดลอกเสียหาย และผนังเซลล์ของเซลล์พาเรนไคมาโดยเฉพาะในบริเวณชั้นกลางของเปลือกเกิดความเสียหาย มีการแยกและสลายตัวของ middle lamella รวมถึงผนังเซลล์ของเซลล์พาเรนไคมาโดยพบว่าผนังเซลล์และบริเวณระหว่างเซลล์ที่เชื่อมติดกันมีสีซีดจางลงเมื่อดูภายใต้กล้อง LM นอกจากนี้ยังพบการรั่วไหลของสารอิเล็กโตรไลต์เพิ่มขึ้น ความชื้นของเปลือกทั้งสองพันธุ์ลดลง กิจกรรมของเอนไซม์พอลิฟีนอลออกซิเดสเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วที่บริเวณด้านในของเปลือกและมีกิจกรรมสูงสุดเมื่อเก็บรักษาเป็นเวลา 10 วัน เปลือกด้านนอกมีกิจกรรมของเอนไซม์พอลิฟีนอลออกซิเดสเพิ่มขึ้นและสูงสุดเมื่อเก็บรักษาเป็นเวลา 12 วัน หลังจากนั้นกิจกรรมของเอนไซม์ลดลงอย่างต่อเนื่องจนเป็นสีน้ำตาลและฉ่ำน้ำกระจายทั่วทั้งเปลือก เมื่อวิเคราะห์หาชนิดของสารประกอบฟีนอลในเปลือกผลลำไยปกติและที่เกิดอาการสะท้านหนาว โดยใช้เปลือกผลลำไยที่ทำแห้งแบบแช่เยือกแข็ง (freeze-dried)และสกัดด้วย 80% เมทานอลนำสารที่สกัดได้ไปวิเคราะห์ด้วยเครื่อง HPLC-PDAพบสารประกอบฟีนอลจำนวนมากและมีรูปแบบที่คล้ายกันทั้งสองพันธุ์ สารประกอบฟีนอลที่วิเคราะห์ได้คือ กรดเอลลาจิก (ellagic acid)ฟลาโวนไกลโคไซด์ (เคอเซทินและเคมเฟอรอล) และสารประกอบที่ไม่สามารถจำแนกได้ (unknown compounds)ระหว่างเกิดอาการสะท้านหนาวปริมาณเคอเซทินและเคมเฟอรอลในเปลือกผลลำไยพันธุ์เบี้ยวเขียวลดลงรวดเร็วกว่าพันธุ์ดอ กลุ่มของสารประกอบที่ไม่สามารถจำแนกได้ เมื่อนำมาแยกให้บริสุทธิ์ด้วย P2 โครมาโทกราฟี เพื่อแยกสารประกอบตามขนาดโมเลกุล และแยกให้บริสุทธิ์ยิ่งขึ้นด้วย TLC และ HPLC และวิเคราะห์ด้วย Fourier transform spectroscopic (FTIR)พบว่ามีสเปกตรัมที่คล้ายกับสารประกอบกลุ่มไฮดรอกซีซินนาเมตจึงช่วยยืนยันในขั้นต้นได้ว่าสารประกอบที่ไม่สามารถจำแนกได้นี้เป็นสารประกอบกลุ่ม ไฮดรอกซีซินนาเมต สำหรับองค์ประกอบของเปลือกผลลำไยพันธุ์ดอและเบี้ยวเขียวมีปริมาณใกล้เคียงกัน ซึ่งประกอบด้วยปริมาณใยอาหารทั้งหมดอยู่ในช่วง 6.95 ถึง 7.62 กรัม เพกทิน 0.61 ถึง 0.97 กรัม และลิกนิน 0.019 ถึง 0.024 กรัม/กรัมของน้ำหนักแห้ง เปลือกผลลำไยพันธุ์เบี้ยวเขียวที่เกิดอากาเกิดอาการสะท้านหนาวมีปริมาณใยอาหารทั้งหมดเพิ่มขึ้น เพกทินลดลง และลิกนินเพิ่มขึ้นเล็กน้อยในทั้งสองพันธุ์